ชาวปักธงชัยหันทำนา “เปียกสลับแห้ง” ประหยัดน้ำสู้วิกฤตแล้ง

1086

ชาวปักธงชัย โคราช หันทำนาปรังแบบ “เปียกสลับแห้ง” ประหยัดน้ำลดต้นทุนผลิตสู้วิกฤตแล้ง เผยใช้น้ำลดลงจากปกติกว่า 30% ชี้นาน้ำไม่ขังตลอดช่วยลดปัญหาโรคแมลง กระตุ้นเพิ่มรากข้าวแตกใหม่ดูดธาตุอาหารได้ดีขึ้น ทำให้ต้นข้าวแข็งแรงไม่ล้มได้ผลผลิตเพิ่ม แถมลดต้นทุนสารเคมี ด้านภาครัฐเร่งส่งเสริมขยายพื้นที่

วันนี้ (1 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนาในบ้านเขาพญา ม.15 อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา หาวิธีสู้แล้งโดยปรับเปลี่ยนการทำนาแบบดั้งเดิมที่สืบต่อกันมาหลายยุคหลายสมัย เพื่อให้เข้ากับสภาพความแห้งแล้งที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ด้วยการหันมาทำนาปรังแบบ “เปียกสลับแห้ง” เพื่อประหยัดและลดการใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด

นายอวยชัย งาตะขบ อายุ 55 ปี เกษตรกรบ้านเขาพญาปราบ หมู่ 15 ต.ตะขบ อ.ปักธงชัย และผู้ใหญ่บ้านเขาพญาปราบ หมู่ 15 หัวหน้ากลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านเขาพญาปราบ เปิดเผยว่า ปีนี้ภัยแล้งรุนแรงกว่าทุกปี ทางเขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย ได้แจ้งเตือนให้ใช้น้ำอย่างประหยัด แม้ไม่ได้ห้ามให้เกษตรกรทำนาปรังเช่นพื้นที่อื่นก็ตาม แต่ได้ขอให้ช่วยกันประหยัดน้ำ และทางเขื่อนจะปล่อยให้พื้นที่เกษตรเป็นรอบทุก 15 วัน จากนั้นจะปิดการปล่อยน้ำ

อย่างไรก็ตาม การทำนาข้าวนั้นต้องมีน้ำมากอย่างเพียงพอจึงจะได้ผลผลิตที่ดี แต่เมื่อเจ้าหน้าที่จากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมาได้เข้ามาแนะนำให้เกษตรกรเปลี่ยนมาทำนาแบบ “เปียกสลับแห้ง” เพื่อลดการใช้น้ำ และลดต้นทุนการผลิตลง ขณะนี้ชาวปักธงชัยที่เป็นสมาชิกกลุ่ม 25 ราย รวมกว่า 400 ไร่ ได้ร่วมกันทำนาปรังแบบเปียกสลับแห้งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ล่าสุดต้นข้าวในนาอายุ 20-25 วันแล้ว เพิ่งสูบน้ำเข้านาแค่ครั้งเดียวเท่านั้น

ความแตกต่างที่เห็นคือ ต้นข้าวมีความแข็งแรง แตกกอดี เขียวขจี เชื่อว่าผลผลิตต่อไร่ที่ได้จะเพิ่มขึ้นขณะที่ต้นทุนการทำนาลดลง โดยทุกปีต้องใช้เงินทุนในการทำนาไม่น้อยกว่า 4,000 บาท/ ไร่ แต่หลังจากหันมาทำนาแบบเปียกสลับแห้งทำให้ลดต้นทุนลงไปได้กว่าร้อยละ 30 และคาดว่าผลผลิตจะได้มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา

ด้าน นายธีระพงษ์ พุทธรักษา ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา เปิดเผยว่า จังหวัดนครราชสีมาเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีประชากรประกอบอาชีพทำนา 202,238 ครัวเรือน มีพื้นที่ปลูกข้าว 3,931,678 ไร่ เป็นพื้นที่เหมาะสมในการทำนา 2,556,052 ไร่ และเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 504,204 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 12.82 ของพื้นที่ปลูกข้าว แต่เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนของ จ.นครราชสีมา มีน้ำต้นทุนเก็บกักและปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาน้อยกว่าค่าเฉลี่ย

โดยเฉพาะเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว แหล่งน้ำหลักขนาดใหญ่ มีความจุที่ระดับปกติ 314.49 ล้าน ลบ.ม. แต่ปัจจุบันมีน้ำใช้ได้เพียง 81.46 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเป้าหมายพื้นที่ 40,000 ไร่ แต่ต้องบริหารจัดการน้ำให้สามารถฝ่าวิกฤตแล้งนี้ไปให้ได้

ทั้งนี้ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวได้คัดเลือกพื้นที่ปลูกข้าว ซึ่งใช้น้ำจากแหล่งน้ำอื่นๆ ที่เพียงพอต่อการเพาะปลูก เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งเพื่อการประหยัดน้ำ (นาปรัง) ฤดูกาลผลิต 2558/59 ให้ชาวนารู้จักการบริหารจัดการน้ำในการทำนาที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จำนวน 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองนครราชสีมา เกษตรกรเข้าร่วม 16 ราย พื้นที่ 278 ไร่ จัดทำแปลงสาธิตจำนวน 2 แปลง และ อ.ปักธงชัย เกษตรกรเข้าร่วม 24 ราย พื้นที่ 450 ไร่ จัดทำแปลงสาธิตจำนวน 3 แปลง โดยใช้พันธุ์ข้าวไม่ไวแสงพันธุ์ชัยนาท 1

ทั้งนี้ ปกติแล้วในการทำนาเกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้วิธีขังน้ำไว้ในนาตลอดฤดูปลูก จึงต้องใช้น้ำประมาณ 2,000 ลบ.ม./ไร่/ฤดู แต่วิธีการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งที่มีการให้น้ำเป็นระยะตามความต้องการของต้นข้าว ทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถลดปริมาณการใช้น้ำเฉลี่ยไร่ละ 15-30% เมื่อไม่ต้องสูบน้ำเข้านาตลอดเวลาก็ช่วยลดต้นทุนการผลิตในส่วนของค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในการสูบน้ำเข้านาต่อไร่ประมาณ 30%

เมื่อไม่มีน้ำขังในนาตลอดเวลาก็ช่วยลดปัญหาโรคและแมลง ลดปริมาณการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลงต่อไร่เฉลี่ย 30-50% ที่สำคัญการปลูกข้าวแบบนี้ช่วยกระตุ้นการเพิ่มรากข้าวแตกใหม่และดูดซึมธาตุอาหารได้ดีขึ้น ต้นข้าวจึงมีความแข็งแรงและได้ผลผลิตดีขึ้นด้วย นายธีระพงษ์กล่าวในตอนท้าย

ที่มา : http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9590000021891