ตำนานพญาคันคาก (พญาคางคก)

1404

116635829_4215250558544954_4464229772630679283_n เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่ปรากฏอยู่อย่างแพร่หลายในการรับรู้ของชาวอีสานและล้านนามีชื่อรู้จักกันโดยทั่วไปว่า ตำนานพญาคันคาก แต่บางถิ่นก็อาจเรียกชื่อว่า ตำนานพญาคางคาก ธัมม์พญาคางคาก หรือพญาคันคากชาดก ในท้องถิ่นล้านนามีชื่อว่า คันธฆาฎกะ และสุวัณณจักกวัตติราช เป็นต้น

มีข้อสังเกตว่า ตำนานพญาคันคาก เป็นเรื่องที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางในภาคอีสาน และมีบันทึกในเอกสารใบลานในแทบทุกจังหวัด

ตำนานพื้นบ้านเรื่องนี้ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็นชาดกพื้นบ้าน และบางครั้งถูกจัดให้เป็นวรรณกรรมพุทธศาสนาในท้องถิ่นด้วย เหตุที่ชาวอีสานเชื่อว่าเป็นนิทานชาดก เนื่องจากพญาคันคากมีสถานภาพเป็นพระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นคางคก เป็นโอรสของกษัตริย์ เหตุที่พระองค์ได้ชื่อว่า “พญาคันคาก” เป็นเพราะเมื่อครั้งประสูติออกมาเป็นกุมารนั้น มีผิวเนื้อและรูปร่างเหมือนคางคก ซึ่งในภาษาถิ่นอีสานเรียกว่า “คันคาก” แม้มีรูปร่างอัปลักษณ์ แต่พญาคันคากนี้ก็มีบุญญาธิการมาก มีพระอินทร์คอยช่วยเหลือ จนเป็นที่เคารพนับถือของชาวเมือง เป็นเหตุให้ผู้คนลืมเซ่นสรวงบูชาพญาแถน ทำให้พญาแถนโกรธ ไม่ยอมปล่อยนํ้าฝนให้ตกลงมายังโลกมนุษย์ พญาคันคากจึงอาสานำเอาไพร่พลบรรดาสัตว์ต่างๆ อาทิ ปลวก ผึ้ง ต่อ แตน งู ช้าง ม้า วัว ควาย ขึ้นไปช่วยกันรบกับพญาแถนบนเมืองฟ้าจนได้รับชัยชนะ พญาแถนจึงยอมปล่อยนํ้าฝนให้ตกลงมายังโลกมนุษย์ตามเดิม

ตำนานพญาคันคากนับเป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพของพระโพธิสัตว์คันคาก สะท้อนให้เห็นพลังศรัทธาความเชื่อทางพุทธศาสนา ที่ผสมผสานกับคติความเชื่อดั้งเดิมเรื่องผีแถน ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนา กับพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ในวิถีชีวิตของชาวนาในวัฒนธรรมข้าว ที่ต้องอาศัยนํ้าฟ้านํ้าฝนในการผลิตธัญญาหาร ในแง่นี้ อาจกล่าวได้ว่า ตำนานพญาคันคากเป็นข้อมูลทางวัฒนธรรมที่สามารถใช้บ่งบอกให้เห็นชีวิตพื้นบ้านที่ดำรงอยู่ในวิถีแห่งวัฒนธรรมการเกษตรในสังคมท้องถิ่นไทยได้เป็นอย่างดี

ในท้องถิ่นอีสาน พบว่า ตำนานพญาคันคาก ยังคงมีบทบาทสำคัญและดำรงอยู่ในวิถีชีวิตอีสาน นับตั้งแต่อดีตมามีความนิยมนำตำนานพญาคันคากมาให้พระใช้เทศน์ในพิธีกรรมการขอฝน และใช้เทศน์ร่วมในพิธีจุดบั้งไฟขอฝนด้วยเหตุนี้ ตำนานพญาคันคากในมุมมองของชาวอีสานจึงถือว่าเป็นวรรณกรรมศักดิ์สิทธิ์ เป็นเรื่องเล่าที่ใช้อธิบายที่มาของประเพณีการจุดบั้งไฟในเดือนหก ซึ่งถือเป็นประเพณีอันสำคัญใน “ฮีตสิบสอง” (จารีตประเพณีสิบสองเดือน) ที่ยังคงปฏิบัติสืบทอดกันมาจนทุกวันนี้

เรื่องย่อ

พระนางแก้วเทวี มเหสีแห่งพญาเอกราชเจ้าเมืองอินทปัตถ์นคร ได้ประสูติพระโอรส ซึ่งมีผิวพรรณเหลืองอร่ามดั่งทองคำ แต่ว่ามีผิวหนังดุจคางคก และในวันที่พระกุมารประสูติ เกิดอัศจรรย์ ขึ้นบนพื้นโลก ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เปรี้ยงปร้าง ลมพายุพัดต้นไม้หักล้มระเนระนาด เสียงดังสนั่นหวั่นไหวราวกับว่าโลกจะถล่มทลาย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้มีบุญลงมาเกิด พระยาเอกราชได้จัดหาหญิงสาว ที่มีลักษณะดี เช่น มีถันเต่งตึงกลมงาม มาเป็นแม่เลี้ยงนางนมแก่พระกุมาร เมื่อพระกุมารเจริญวัยเติบใหญ่เป็นหนุ่ม ก็คิดอยากจะได้คู่ครอง และอยากได้ปราสาทเสาเดียวไว้เป็นที่ประทับ จึงเข้าเฝ้าและทูลขอให้ พระบิดาช่วย ฝ่ายบิดาเห็นว่าพระโอรสของตนมีรูปร่างผิดแผกแตกต่างไปจากคนทั่วไป คงไม่มีหญิงใดปรารถนาจะได้เป็นคู่ครอง จึงทรงบอกให้พระกุมารเลิกล้มความคิดเช่นนั้นเสียโดยให้เหตุผลว่าพระกุมารมีรูปร่างอัปลักษณ์ ทำให้พระกุมารเสียพระทัยยิ่งนัก

ต่อมาในกลางดึกสงัดของคืนวันหนึ่ง พระกุมาร จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าตนเคยได้สร้าง สมบุญบารมีมา ก็ขอให้สำเร็จดังความปรารถนาด้วยเถิด ด้วยแรงอธิษฐานทำให้บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ซึ่งเป็นที่ประทับนั่งของพระอินทร์เกิดแข็งกระด้างขึ้น พระอินทร์จึงลงมาเนรมิตปราสาทเสาเดียวอันงดงามหาที่เปรียบไม่ได้ พร้อมด้วยข้าทาสบริวาร เครื่องอุปโภคบริโภค ซึ่งล้วนแล้วไปด้วยทิพย์ปานประหนึ่งเมืองสวรรค์ และยังได้เอานางแก้วจากอุดรกุรุทวีปมามอบให้เป็นคู่ครอง ก่อนจาก ได้เนรมิตพระกุมาร ให้เป็นชายหนุ่มรูปงาม พญาเอกราชเห็นประจักษ์ในบุญบารมีของลูก จึงยกราชสมบัติบ้านเมืองให้ครอบครอง

เมื่อพระกุมารได้ครองราชย์แล้ว เจ้าเมืองทั้งหลายในชมพูทวีปต่างก็มาขออยู่ภายใต้ ร่มบารมี แม้พวกพญาครุฑ พญานาค พญาหงส์ เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ เช่น ช้าง ม้า เสือ สิงห์ กระทิง แรด ลงไปถึงกบ เขียด อึ่งอ่าง คางคก ผึ้ง ต่อ แตน มด ปลวก ต่างก็พากันมาถวายตัวเป็นบริวารจนหมดสิ้น ทำความไม่พอใจให้พญาแถนเป็นยิ่งนัก พญาแถนจึงไม่ยอมให้พวกพญานาคลงเล่นน้ำ เป็นเหตุ ให้เกิดความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกลงมายังโลกมนุษย์เป็นเวลาหลายปี ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารเหี่ยวเฉา ตาย มนุษย์และเหล่าสัตว์ต่างพากันเดือดร้อน จึงไปทูลให้พญาคันคากทราบ พญาคันคากจึงไปยังเมืองบาดาลถามพวกนาคดู เมื่อรู้เหตุที่ทำให้ฝนแล้งแล้ว พญาคันคากจึงยกทัพอันประกอบไปด้วยมนุษย์ และเหล่าสัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกขึ้นไปทำสงครามกับพวกพญาแถน

พญาคันคากกับพญาแถน ได้ต่อสู้กันด้วยอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ เมื่อพญาแถน เห็นว่า จะเอาชนะพญาคันคากด้วยฤทธิ์เดชไม่ได้ จึงท้าให้ชนช้างกัน ในที่สุดพญาคันคากชนะ จึงจับพญาแถนและให้พญานาคจับมัดไว้ พญาแถนจึงขอยอมแพ้ และขอมอบถวายบ้านเมืองให้ และสัญญาว่าจะส่ง น้ำฝนลงมาให้ตามฤดูกาลดังเดิม และจะลงมาปลูกพันธุ์ข้าวทิพย์ลูกเท่ามะพร้าวให้ นับแต่นั้นเป็นต้นมา พอถึงฤดูกาลทำนา ฝนก็ตกลงมายังให้ความชุ่มชื้นแก่แผ่นดินเป็นประจำทุกปี

พญาคันคาก ปกครองบ้านเมืองด้วยหลักทศพิธราชธรรม ถือศีลภาวนา สร้างบุญกุศล อยู่มิได้ขาด ทำให้ชาวประชาร่มเย็นเป็นสุขกันถ้วนหน้า พระองค์ทรงพระชนมายุได้แสนปีจึงสวรรคต หลังจากนั้นเป็นต้นมา ชาวโลกก็ได้อาศัยหนทางที่ พระยาคันคากสร้างไว้ขึ้นไปเรียนเอาเวทย์มนต์คาถาจากพวกพญาแถน เมื่อลงมายังโลกแล้วก็ใช้คาถาอาคมที่ตนเองเรียนมาจากครูบาอาจารย์เดียวกันรบราฆ่าฟันกันล้มตายเป็นจำนวนมากต่อมาก และพวกมนุษย์ยังพากันเกียจคร้านไม่เอาใจใส่เรือกสวนไร่นา เมื่อข้าวกล้าที่พญาแถนปลูกไว้ตามที่สัญญากับพญาคันคากสุกแก่เต็มที่แล้ว ก็ไม่พากันทำยุ้งฉางไว้ใส่ มิหนำซ้ำ ยังพากันโกรธแค้นที่ให้เมล็ดข้าวเท่าลูกมะพร้าว จึงช่วยกันสับฟัน จนแตกเป็นเม็ดเล็ก เม็ดน้อย เมล็ดข้าวจึงกลายเป็นเมล็ดเล็ก ๆ ดังที่เห็นในปัจจุบันนี้ จากนั้นมาข้าวจึงไม่เกิดเอง มนุษย์ต้องหว่าน ไถ ปัก ดำ จึงจะได้ข้าวมากิน

เมื่อพญาแถนเห็นชาวโลกละเลยศีลธรรม ไม่ตั้ง ตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม พญาแถนจึงทำลายเส้นทางติดต่อระหว่างชาวโลกกับพวกแถนเสีย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาชาวโลกจึงไม่อาจขึ้นไปยังเมืองฟ้าพญาแถนได้อีก