“รองผู้ว่าฯ โคราช” โชว์ควบรถไถฝังกลบตอซังข้าว หนุนใช้ปุ๋ยอินทรีย์-ชีวภาพ

667

รองผู้ว่าฯ โคราชควบรถไถนาฝังกลบตอซังข้าวโชว์เกษตรกร อ.ปักธงชัย หนุนลดละ เลิกใช้สารเคมี แนะใช้ปุ๋ยอินทรีย์-สารชีวภาพแทน ปลอดภัยทั้งคนผลิตและผู้บริโภค แถมลดต้นทุนการผลิต

วันนี้ (22 ม.ค.) ที่โครงการทฤษฏีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ม.14 บ้านฉัตรมงคล ต.ธงชัยเหนือ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา นายสุวิทย์ คำดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดงานวันรณรงค์ลด ละการใช้สารเคมี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และงานรณรงค์ขยายผลการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยมี นายสมจิตร ธีระบุญชัยกุล เกษตรจังหวัดนครราชสีมา ให้การต้อนรับพร้อมกล่าวรายงาน มีเกษตรกร ส่วนราชการ เกษตรกรอำเภอ และอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน เข้าร่วมกว่า 500 คน ทั้งนี้ เพื่อปลุกจิตสำนึกกระตุ้นเตือนให้เกษตรกรเห็นความสำคัญ ตระหนักถึงพิษภัยจากสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการยอมรับและนำไปปฏิบัติย่างต่อเนื่อง

สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การจัดถ่ายทอดความรู้โดยการสาธิตบรรยายจากนิทรรศการและสถานีถ่ายทอดความรู้ โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนซึ่งจัดเป็นสถานีให้เกษตรกรเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมีการจัดงานรณรงค์ขยายผลการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตด้วย การวิเคราะห์ ปริมาณ ธาตุอาหารในดินก่อนการปลูกพืช ร่วมกับการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ใช้เองในไร่นา

พร้อมกันนี้ นายสุวิทย์ยังได้นำหัวหน้าส่วนฯ ขับรถไถนาสาธิตการไถกลบตอซักข้าวด้วยตนเอง สร้างสีสันให้กับงานทำให้บรรยากาศคึกคัก และผู้ที่มาร่วมงานต่างต้องลุ้นไปตามๆ กัน ท่ามกลางแดดที่ร้อนจัด

นายสุวิทย์ คำดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า การระบาดของศัตรูพืชในปัจจุบันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการ ทั้งปัจจัยภายใน ได้แก่ ปลูกพืชที่เป็นพื้นที่กว้างติดต่อกันนาน การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชปริมาณมากทำให้ศัตรูธรรมชาติมีปริมาณลดลง และปัจจัยภายนอก ได้แก่ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ศัตรูพืชจึงมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นและพัฒนาสายพันธุ์ให้ต้านทานทำความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตร ฉะนั้นการเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรสามารถรับมือกับศัตรูพืชดังกล่าวจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อลดความเสี่ยงของผลผลิตทางการเกษตรด้านมาตรฐานและคุณภาพ และเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น จ.นครราชสีมาจึงมีแนวทางพัฒนาให้เกษตรกรปรับพฤติกรรมารใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย ลดการใช้สารเคมี ส่งเสริมการใช้สารชีวภาพ สารสกัดธรรมชาติ ควบคุมศัตรูพืชทดแทนสารเคมี เช่น การใช้เชื้อราโตรโคเดอร์มาควบคุมโรคพืช การใช้เชื่อราบิวเวอเรียควบคุมแมลงศัตรูพืช การอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ และตัวห้ำ ตัวเบียน และวิธีทำการเกษตรแบบผสมผสาน ทั้งนี้เพื่อปรับระบบกาผลิตให้มีความปลอดภัยได้มาตรฐาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเกษตรกรผู้ผลิตมีความปลอดภัย

ที่มา : http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9590000007818