หิมะดำ!!! ชาวบ้าน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เดือดร้อนโวยเผาป่าอ้อยทุกวัน แจ้งหน่วยงานรัฐทำเมินเฉย

717

ค่ำวันที่ 4 มกราคม 2562 ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี โดยเฉพาะในเขตเทศบาลตำบลบ้านผือ หลังในพื้นที่มีการเผาไร่อ้อยกันทุกวัน จนเกิดหิมะดำ สร้างความเดือดร้อนกับชาวบ้านโดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กเล็ก

ต้องมาดมควันทำให้เจ็บป่วย ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง แต่เงียบไม่มีการดำเนินการจริงจัง โดยเฉพาะช่วงเวลาค่ำของทุกคืน จะทำการเผาอ้อยใกล้บ้านเรือนประชาชน จนท้องฟ้าแดงฉาดและปกคลุมไปด้วยควันดำ จนชาวบ้านต้องออกมาคอยเฝ้าจับตาระวังไม่ให้เกิดเพลิงไหม้ ยิ่งตอนเช้าเศษอ้อยที่ถูกเผาหรือชาวบ้านเรียกหิมะดำ จะปกคลุมไปทั่วหมู่บ้าน วัด โรงเรียน และถนนจนเป็นสีดำ ชาวบ้านเก็บกวาดเสร็จกลางคืนก็แอบเผาอีก ฝากถึงผู้ใหญ่ในจังหวัดช่วยลงมาดูหน่อย สงสารชาวบ้านเถอะ

โดยชาวบ้านในพื้นที่หวั่นค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะมีผลกระทบต่อร่างกาย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงคือเด็กเล็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุและผู้ที่โรคประจำตัว ฝุ่นละอองสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือดและซึมสู่กกระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังและมะเร็ง

ทั้งนี้สื่อมวลชนได้ตรวจสอบข้อมูลกับ กรมควบคุมมลพิษพบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา PM 2.5 มาจาก 2 สาเหตุหลักด้วยกัน คือ 1.การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซล และ 2.การเผาพืชตามไร่นา สำหรับภาคอีสานมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ และมักประสบปัญหา PM 2.5 ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายนที่เป็นช่วงเก็บเกี่ยวอ้อย โดยปัญหานี้จะยิ่งรุนแรงขึ้นในช่วงที่อากาศแล้งและมีปริมาณฝนน้อย เนื่องจากการชะล้างฝุ่นละอองเป็นไปอย่างจำกัด การเผาอ้อยจึงอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาดังกล่าว ส่วนการเก็บเกี่ยวอ้อยสามารถทำได้ 2 วิธี วิธีแรก คือ การตัดอ้อยสด และวิธีที่สอง คือ การเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว หรือที่เรียกกันว่า “อ้อยไฟไหม้” ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของปริมาณอ้อยทั้งหมด
เมื่อมาดูแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการเผาอ้อยพบว่ามีอยู่อย่างน้อย 3 ประการด้วยกัน

1.อ้อยไฟไหม้ตัดง่ายกว่าและรายได้ดีกว่า การที่แรงงานเผาอ้อยก่อนตัดทำให้สามารถตัดอ้อยได้ง่าย ไม่ต้องเสียเวลาลอกกาบใบ จึงตัดได้ในปริมาณที่มากกว่าอ้อยสดประมาณ 2 เท่า ส่งผลให้โดยรวมแล้วหากแรงงานเลือกตัดอ้อยไฟไหม้จะมีรายได้สูงกว่าตัดอ้อยสดประมาณ 100 บาท/วัน ประกอบกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน ยิ่งส่งผลให้แรงงานมีอำนาจต่อรองในการตัดอ้อยไฟไหม้เพิ่มขึ้น

2.รถตัดอ้อยมีน้อยและไม่เหมาะสมกับพื้นที่ เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการเก็บเกี่ยวโดยใช้รถตัดและแรงงานพบว่า การเช่ารถตัดอ้อยมีต้นทุนที่สูงกว่าการจ้างแรงงานประมาณ 1,000-1,400 บาท/ไร่ เนื่องจากรถตัดอ้อยมีจำนวนน้อย เพราะมีราคาสูงถึง 6-12 ล้าน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมากสำหรับการลงทุนของเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย นอกจากนี้ยังพบว่า การใช้รถตัดอ้อยอาจไม่เหมาะสมกับกรณีไร่อ้อยในไทย เนื่องจากระยะห่างในไร่ที่เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ปลูก มีความกว้างน้อยกว่าขนาดหน้ากว้างของตัวรถ
3.โรงงานน้ำตาลให้คิวอ้อยไฟไหม้ก่อนอ้อยสด เนื่องจากหากโรงงานไม่รีบซื้อภายใน 48 ชั่วโมง ค่าความหวานและน้ำหนักของอ้อยไฟไหม้จะลดลงเร็วกว่าอ้อยสด โดยหากทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ อ้อยสดจะมีน้ำหนักลดลงร้อยละ 14 ในขณะที่อ้อยไฟไหม้จะมีน้ำหนักลดลงถึงร้อยละ 20

ในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐไม่นิ่งนอนใจ ได้มีมาตรการออกมาแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เห็นชัด ๆ 2 มาตรการ คือ การคิดค่าปรับอ้อยไฟไหม้แล้วนำเงินไปเฉลี่ยเพิ่มให้กับเกษตรกรที่ขายอ้อยสด ซึ่งเป็นมาตรการที่มีมานานแล้วกว่า 30 ปี โดยในปีการผลิตปัจจุบันคิดค่าปรับที่ 30 บาท/ตัน และการกำหนดสัดส่วนให้โรงงานรับซื้ออ้อยสดไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ต่อปริมาณอ้อยเข้าหีบต่อวัน ซึ่งเป็นมาตรการที่บังคับใช้ไปเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา แต่มาตรการเหล่านี้พบว่ายังไม่เห็นผลสำเร็จมากนัก สะท้อนจากอ้อยเข้าหีบที่ยังเป็นอ้อยไฟไหม้ประมาณร้อยละ 60

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และสมาคมโรงงานน้ำตาล จะร่วมมือทำแผนงานเพื่อลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี และกำหนดเป้าหมายจะไม่มีอ้อยไฟไหม้ในปี 2565 อย่างไรก็ดี มาตรการที่จะทำเพิ่มนี้อาจช่วยแก้ปัญหาได้ไม่มากนัก เนื่องจากปัจจุบันรถตัดที่มีอยู่ก็ถูกใช้งานเพียงร้อยละ 35 เท่านั้น สะท้อนว่ายังมีกำลังการผลิตส่วนเกินสูง และอาจเป็นไปได้ยากที่จะให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนระยะปลูก นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการจัดระบบคิวที่ยังเป็นข้อจำกัดในการใช้ระบบ​ถตัดเช่นกัน

ในปีการผลิต 2561/2562 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโรงงานน้ำตาล 22 โรงงาน อ้อยเข้าหีบรวม 56.250 ล้านตัน (ประเทศไทยมีโรงงานน้ำตาล 57 โรงงาน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3 โรงงาน และมีโรงงานน้ำตาลเดิมในหลายพื้นที่ขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติม รวมกำลังการหีบอ้อยทั้งประเทศปีนี้มากกว่า 130 ล้านตัน) ฤดูหีบอ้อยมีช่วงเวลาประมาณ 5 เดือน (หลังฤดูเกี่ยวข้าว) หมายถึงเฉลี่ยแล้วจะมีอ้อยที่ต้องขนส่งเข้าโรงงานในภาคอีสาน โรงงานละ 2.556 ล้านต้น หรือ 511,363 ตัน/เดือน/โรงงาน

จากผลการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายของแต่ละวิธีการเก็บเกี่ยวอ้อย “การใช้รถตัดอ้อยต้นทุนต่ำที่สุด” ดังนี้ แรงงานคน เสียค่าใช้จ่าย 186.68 บาท/ตัน ,แรงงานคนและรถคีบ (อ้อยไฟไหม้) เสียค่าใช้จ่าย 169.60 บาท/ตัน , ใช้รถตัดอ้อย เสียค่าใช้จ่าย 162.39 บาท/ตัน

เหตุผลที่ชาวไร่อ้อยเลือกใช้วิธีการเผาไร่อ้อยมากกว่าการตัดอ้อยสด สาเหตุใหญ่เป็นปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน โดยแรงงาน 1 คนจะตัดอ้อยสดได้ประมาณ 1-1.5 ตัน/วัน แต่ถ้าเป็นอ้อยไฟไหม้จะตัดได้ประมาณ 2-3 ตัน/วัน และการที่โรงงานให้คิวอ้อยไฟไหม้ก่อนอ้อยสด เนื่องจากอ้อยไฟไหม้ส่วนใหญ่เป็นของหัวหน้าโควหน้ารายใหญ่ซึ่งมีอำนาจต่อรองกับโรงงานน้ำตาล และการลดลงของน้ำหนักอ้อยไฟไหม้ไม่ได้กระทบกับค่าความหวาน อีกทั้งโรงงานยังรับซื้ออ้อยไฟไหม้ได้ในราคาที่ถูกกว่าอ้อยสดด้วยการตัดอ้อยไฟไหม้จะใช้แรงงาน 18.75-28.125 ล้านแรง แรงงานตัดอ้อยไฟไหม้จะได้ผลตอบแทนสูงกว่าตัดอ้อยสด 2 เท่า ส่วนเจ้าของไร่อ้อยถึงจะจ่ายแพงกว่าต่อวัน แต่ก็ได้ผลผลิตไปขายได้มากและเร็วกว่า และหาแรงงานง่ายกว่า ทำให้ปัจจุบันโรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ที่มีอัตราอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงาน ยังคงอยู่ที่ 60% ขึ้นไป

รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดทำต้นทุนผลผลิตและถ่ายทอดความรู้เพื่อลดต้นทุนการผลิตอ้อยของเกษตรกร ในปีเพาะปลูก 2557/58 โดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เสนอ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้ให้เห็นว่า ต้นทุนการผลิตอ้อยในอีสาน 1,218.83 บาท/ตัน เกษตรกรชาวไร่อ้อยขาดทุนกว่า 10 ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยรายเล็กที่ไม่มีเครื่องมือและเครื่องจักรกลเป็นของตนเอง เช่น รถไถ เครื่องปลูกอ้อย รถตัดอ้อย ตลอดจนรถบรรทุกเพื่อการขนส่งอ้อยจากแปลงไปยังโรงงาน จึงจำเป็นต้องจ้างเครื่องจักรและแรงงาน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง และยังสูงกว่าชาวไร่อ้อยรายใหญ่ ที่มีพื้นที่ปลูกอ้อยขนาดใหญ่ ตามหลักทฤษฎีเรื่องการประหยัดต่อขนาด และยังได้เปรียบด้านการลงทุนทางเทคโนโลยีการผลิต อีกทั้งยังสามารถใช้เทคโนโลยีที่มีไปรับจ้างจากชาวไร่อ้อยรายเล็กได้อีกทางหนึ่ง และยังมีอิทธิพลในการเจรจาต่อรองผลประโยชน์กับผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลได้เพราะส่วนใหญ่มักมีตำแหน่งอยู่ในสมาคมชาวไร่อ้อยด้วย
การที่โรงงานล่าลายเซ็นเกษตรกรมาเข้าเกษตรพันธสัญญาอ้อย

โดยไม่ได้ดูว่าพื้นที่ของเกษตรกรมีความเหมาะสมในการปลูกอ้อยหรือไม่ ปลูกอ้อยแล้วจะคุ้มค่ากับการลงทุน ให้ผลิตดีหรือไม่ เกษตรกรมีศักยภาพและเศรฐกิจเพียงพอที่จะเข้าถึงเครื่องจักร-เทคโนโลยีได้หรือไม่ ทำให้ชาวไร่อ้อยรายเล็กส่วนใหญ่ตกอยู่ในวงจรหนี้สินสะสมจากสัญญาโควต้า เนื่องจากราคาอ้อยตกต่ำมากกว่า 10 ปี สภาพอากาศท่วม-แล้งที่สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกร รวมทั้งแนวโน้มของราคาอ้อยที่คาดการณ์ไม่ได้จากการลอยตัวราคาน้ำตาลตามตลาดโลก การขาดแคลนแรงงานในครัวเรือน และไม่สามารถเข้าถึงเครื่องจักร-เทคโนโลยี นี่คือความไม่เป็นธรรมโดยมีเกษตรกรเป็นเหยื่อใช่หรือไม่ ปัญหาการเผาอ้อย ต้นทางของผู้ก่อมลพิษคือใคร ที่ควรเป็นผู้รับผิดชอบ