เวียนไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองอุดร

1036

ทุกคราที่ไปออกเดินทางเที่ยวท่องล่องไปไม่ว่าย่านใด สิ่งที่นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ควรแวะเวียนไปให้ถึงมิฉะนั้นอาจไม่ได้ชื่อว่าไม่ได้มาเยือนถิ่นนี้อย่างแท้จริง นั่นคือการไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง ในจังหวัดอุดรธานีมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่ชาวบ้านและแขกใครไปมาต้องมาเคารพกราบไหว้ เอาล่ะ ได้เวลาสวมรองเท้าแล้วเดินทางไปกราบขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นมิ่งมงคลแก่ตัวเองกัน

เยี่ยมเยือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์กรุ่นอารยธรรมจีนที่ศาลเจ้าปู่ย่า
เอาฤกษ์เอาชัยกันที่ศาลเจ้าปู่-ย่า…ศาลเทพเจ้าจีนที่ใหญ่โตและสวยงามตามสไตล์จีนโบราณ โดยที่แห่งนี้เป็นสถานที่เก็บรักษามังกรทองที่มีขนาดความยาวถึง 99 เมตรซึ่งใช้จัดแสดงในงานทุ่งศรีเมืองในเดือนธันวาคมของทุกปีด้วย ศาลเจ้าปู่-ย่านั้นอยู่ด้านหลังสถานีรถไฟใกล้กับตลาดหนองบัว ถนนนิตโย ภายในมีสวนหย่อมอยู่ริมหนองบัวรวมทั้งศาลาชมวิวกลางน้ำถึง 2 หลังและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งสิ้น 6 สิ่ง ใครที่มีเวลาอยากพกข้าวของไปสักการะขั้นต่ำต้องกำธูปไปทั้งหมด 30 ดอก พร้อมน้ำมันสำหรับเติมในตะเกียงเพื่อให้ชีวิตสว่างไสวตามความเชื่อและส้มไปสักหน่อยแต่ถ้าไม่พร้อมจัดเตรียมก็ไปหาบูชากันที่ศาลเจ้านี้แหละ
การกราบไหว้ขอพรให้เราไปตั้งต้นกราบไหว้กันที่ ทีตีแป่บ้อ หรือ ศาลเทพยดาฟ้าดินผู้ใดที่มากราบไหว้ทีตีแป่บ้อก็เหมือนได้กราบไหว้เหล่าเทพยดาบนสรวงสวรรค์นั่นเอง
ตามมาด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งที่สอง ได้แก่ เจ้าปู่เจ้าย่า หรือเราอาจจะคุ้นหูในชื่อจีนๆ อย่าง “ปึงเถ่ากงม่า”มากกว่า ศาลหลังนี้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2534 ภายในจะมีรูปบูชาของเจ้าปู่เจ้าย่าศักดิ์ที่ไม่ว่าจะขอสิ่งใดก็ได้สมปรารถนาซึ่งลูกหลานชาวอุดรได้มากราบไหว้ขอพรเสริมสิริมงคลอยู่เสมอณ จุดนี้อย่าลืมไหว้ผลส้ม 4 ลูกด้วยนะ
เดินต่อมาที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งที่สาม ศาลเจ้าพ่อหนองบัว แต่เดิมศาลเจ้าพ่อหนองบัวตั้งอยู่ริมหนองบัวแต่ปัจจุบันเมื่อมีการสร้างศาลเจ้าปู่ย่าและสวนสาธารณะขึ้นจึงได้มีการอัญเชิญเจ้าพ่อหนองบัวมาสถิตย์ภายในบริเวณศาลเจ้าปู่ย่าแทน
ส่วนสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งที่สี่ ก็คือ“ตี่จู๋เอี๊ย” หรือที่เราเรียก เจ้าที่เจ้าทางซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษาศาลเจ้าปู่ย่าและบริเวณหนองบัวเอาไว้
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ลำดับต่อมา ได้แก่พระสังกัจจายน์ เป็นรูปหล่อเทพเจ้าที่เชื่อกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความร่ำรวยซึ่งขุดค้นพบใต้ต้นไทรในบริเวณศาลเจ้าปู่-ย่าในปี พ.ศ. 2530
สุดท้ายก็มาถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งสุดท้าย นั่นคือ “ฉั่งง่วนส่วย” ตามความเชื่อจีนท่านเป็นเทพเจ้านักปราชญ์ที่นักเรียน นักศึกษาและผู้ที่จะไปสมัครสอบนิยมมาสักการะ
เมื่อกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 6 แห่งเรียบร้อยแล้วอย่าเพิ่งรีบกลับ เพราะเราต้องเดินข้ามสะพานเก้าเลี้ยวที่มีความเชื่อกันว่าเป็นจุดเชื่อมต่อสวรรค์เพื่อให้สวรรค์รับรู้ว่าเราขอพรอะไรไป จากนั้นกลับมากราบลาศาลปู่ย่าอีกครั้ง พร้อมเอาส้มติดตัวกลับมา 2 ลูกด้วยจึงจะถือว่าลุล่วงภารกิจ

มาถึงอุดรต้องแวะขอพร ณ ศาลเทพารักษ์
udon_thani-61850-1ริมสวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคมในเขตอำเภอเมืองอุดรธานีเป็นที่ตั้งของศาลเทพารักษ์สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียงเคารพสักการะมาเป็นเวลาช้านาน
แต่เดิมนั้นศาลเทพารักษ์เป็นเพียงศาลไม้ตั้งอยู่บนเนินดินที่เรียกว่าโนนพุงดอใกล้กับจวนผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งในปัจจุบันคือพระตำหนักหนองประจักษ์ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2490เมื่อสมัยที่ขุนศุภกิจวิเลขการยังดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีภายหลังเมื่อหลวงศุภกิจจรรยาเป็นผู้ว่าราชากรจังหวัด ท่านได้สั่งให้ขุดลอกหนองนาเกลือหรือหนองประจักษ์ศิลปาคมในปัจจุบันเพื่อทำอ่างเก็บน้ำและในปี พ.ศ. 2518 ได้สร้างศาลเทพารักษ์ขึ้นทั้งได้ประกอบพิธีอัญเชิญดวงพระวิญญาณของพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม มาสิงสถิต ณ ศาลแห่งนี้ เพื่อให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวอุดรธานีในสมัยนั้น สาเหตุที่ตั้งชื่อศาลแห่งนี้ว่า “ศาลเทพารักษ์” ก็เพราะดวงของพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมผู้สร้างเมืองนั้นสมพงษ์กับดวงเมือง เชื่อว่าดวงพระวิญญาณของพระองค์ยังทรงห่วงใยและคุ้มตรองปกปักษ์รักษาลูกหลานชาวเมืองของพระองค์ตลอดมา คำว่า “เทพารักษ์” จึงหมายถึง “เทพผู้รักษาเมือง” ศาลเทพารักษ์จึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองอุดรธานี
ต่อมาในสมัยนายพิศาล มูลศาสตร์สาทรเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้ร่วมกับชาวบ้านบูรณะศาลเทพารักษ์ขึ้นใหม่ ทางเทศบาลนครอุดรธานีก็ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบศาลให้สวยงามยิ่งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดอุดรธานีและในวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๕ ได้จัดให้มีพิธีอัญเชิญองค์เทพารักษ์ ขึ้นประดิษฐานที่ศาลเทพารักษ์หลังใหม่ศาลเทพารักษ์ที่ได้รับการบูรณะสร้างใหม่ออกแบบเป็นรูปทรงคล้ายปรางค์ขอมที่มีความสวยงามน่าชม ในบริเวณใกล้เคียงมีต้นศรีมหาโพธิ์ต้นใหญ่จากประเทศศรีลังกา
ศาลเทพารักษ์ขึ้นเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องโชคลาภด้านการงาน การเงิน และการศึกษา โดยมีผู้แนะนำวิธีในการขอพรสืบต่อกันมาว่า ให้กลั้นหายใจเวลาขอพรจากศาลเทพารักษ์แล้วปิดทอง 3 แผ่นก็จะสมปรารถนา และถ้าใครพอจะหาซื้อน้ำมันพืชติดตัวมาได้ก็อย่าลืมซื้อมาเติมตะเกียงน้ำมันในศาลเพื่อเพิ่มแสงสว่างในชีวิตกันด้วยนะ

chanod2

…เมืองพญานาคศักดิ์สิทธิ์มากตำนานลี้ลีบ
คำชะโนดเป็นชื่อที่หลายคนอาจรู้จักจากภาพยนตร์เรื่องผีจ้างหนังที่เคยเข้าฉายมาก่อนหน้านี้ เรื่องราวของคำชะโนดนั้นเต็มไปด้วยความลี้ลับ ชาวบ้านที่ทำมาหากินในละแวกนั้นมักได้พบสิ่งลี้ลับอยู่เสมอ เช่น เห็นชาวเมืองชะโนด ไปเที่ยวงานบุญบ้าง เห็นผู้หญิงไปยืมเครื่องมือทอผ้าจากชาวบ้านบ้าง หรือบางครั้งชาวเมืองชะโนดจัดงานบุญประจำปี และว่าจ้างเอาภาพยนตร์เข้าไปฉายที่กลางเมืองชะโนดก็เคยมี เป็นที่กล่าวขานกัน จนหน่วยฉายหนังเร่เมืองอุดรหวาดผวาไปตามๆ กัน
คำชะโนดหรือวังนาคินทร์คำชะโนดแห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีตำนานเกี่ยวพันกับพญานาคและเรื่องลี้ลับที่ผู้คนต่างมาเยี่ยมเยือน คำชะโนดตั้งอยู่กลางทุ่งที่มีน้ำล้อมรอบดูคล้ายเกาะลอยน้ำและทั่วทั้งพื้นดินกว่า 20 ไร่นั้นยังมีต้นชะโนดสูงใหญ่ให้ความร่มรื่นอีกด้วยโดยมีความเชื่อกันว่าคำชะโนด คือ รอยต่อระหว่างภพมนุษย์กับภพบาดาลที่นี่เมื่อถึงหน้าฝนรอบๆเกาะน้ำจะท่วมทุกปีแต่คำชะโนดไม่เคยมีน้ำท่วมเนื่องจากมีศาลบูชาพญานาค 2 ท่าน โดยนาคบริวารช่วยกันร่ายมนตร์หนุนแผ่นดินเป็นเหตุให้สูงพ้นน้ำ
ตามรอยความลี้ลับที่ป่าคำชะโนด
ป่าคำชะโนดขึ้นชื่อว่าเป็นป่าที่มีเรื่องราวความลี้ลับมากมาย โดยตำนานของป่าคำชะโนดนั้นเล่ากันว่า มีพญานาคอยู่สองตนได้ปกครองเมืองหนองกระแส โดยครึ่งหนึ่งเป็นของ สุทโธนาค (พญาศรีสุทโธ) ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นของ สุวรรณนาค ทั้งสองปกครองเมืองอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข แต่มีข้อตกลงกันอยู่ว่า ถ้าเมื่อฝ่ายใดออกไปล่าสัตว์หาอาหาร อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องไม่ไป เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดการกระทบกระทั่งกันและเมื่อฝ่ายที่ออกไปล่าสัตว์หาอาหารมาได้นั้น ให้นำมาแบ่งกันอย่างละครึ่ง
เมื่อคราวสุวรรณนาคได้ออกไปล่าสัตว์หาอาหารได้เนื้อช้างมา จึงนำเนื้อช้างที่ได้แบ่งให้สุทโธนาค พร้อมทั้งนำขนของช้างไปยืนยันว่าเป็นเนื้อช้างจริง อีกครั้งที่สุวรรณนาคออกไปล่าสัตว์หาอาหารอีก ครั้งนี้ได้เม่นมาเป็นอาหาร จึงได้นำเนื้อเม่น และขนของเม่นไปมอบให้แก่สุทโธนาคเหมือนเช่นเคยแต่สุทโธนาคกลับแสดงความไม่พอใจ เพราะเมื่อดูจากขนของเม่นที่มีขนาดใหญ่กว่าขนของช้าง ปริมาณเนื้อที่ได้ก็ควรมีมากกว่าเนื้อของช้าง แต่ปริมาณเนื้อนั้นกลับมีน้อยกว่ามากนัก จึงคิดว่าสุวรรณนาคไม่มีความซื่อสัตย์ ฝ่ายสุวรรณนาคพยายามอธิบายอย่างไรก็ไม่เป็นผล จึงเกิดสงครามระหว่างสุทโธนาค และสุวรรณนาคขึ้น เมื่อพระอินทร์ได้ทราบเรื่อง จึงหาวิธีการที่จะทำให้พญานาคทั้งสองนั้นหยุดทำสงครามกัน โดยให้พญานาคทั้งสองสร้างแม่น้ำขึ้นคนละสาย ถ้าใครสร้างได้ถึงทะเลก่อนจะให้ปลาบึกขึ้นอยู่ในแม่น้ำนั้น เมื่อได้ยินเช่นนั้น สุทโธนาคก็ได้สร้างแม่น้ำมุ่งไปทางทิศตะวันออกของหนองกระแส และด้วยความที่สุทโธนาคมีนิสัยใจร้อน เมื่อพบเจอภูเขากั้นทางแม่น้ำก็จะทำการหลบหลีก โค้งไปโค้งมา จึงเกิดเป็น แม่น้ำโขง (โค้ง) ส่วนทางฝ่ายสุวรรณนาคนั้น ได้ทำการสร้างแม่น้ำขึ้นทางทิศใต้ของหนองกระแส สุวรรณนาคมีความละเอียด และใจเย็น แม่น้ำที่สร้างขึ้นจึงมีความตรงกว่าแม่น้ำทุกสาย ได้แก่ แม่น้ำน่าน
สุทโธนาคเป็นผู้ที่สร้างแม่น้ำได้เสร็จก่อน จึงมีปลาบึกขึ้นอยู่ในแม่น้ำโขงเพียงแห่งเดียว และเมื่อเป็นเช่นนั้น สุทโธนาคก็ได้ขอทางขึ้น-ลง ระหว่างเมืองบาดาล กับเมืองมนุษย์ไว้อีก 3 แห่ง หนึ่งในนั้นก็คือ คำชะโนด ซึ่งมีต้นชะโนดขึ้นเป็นสัญลักษณ์ ให้สุทโธนาคพร้อมบริวารสามารถกลายร่างเป็นมนุษย์ (พญาศรีสุทโธ) และตั้งบ้านเมืองปกครองอยู่ที่คำชะโนดได้เมื่อข้างขึ้น 15 วัน อีก 15 วันข้างแรม ให้กลายเป็นนาค อาศัยอยู่เมืองบาดาล (พญานาคราชศรีสุทโธ)
สำหรับใครที่อยากจะเข้าป่าคำชะโนดไปพิสูจน์ตำนานความอัศจรรย์พันลึกมีข้อแนะนำว่าระหว่างเข้าป่าให้สำรวจกิริยาวาจาและต้องปฏิบัติตามข้อห้ามอื่นๆ อย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามใส่รองเท้าทั่วทั้งบริเวณป่า ห้ามนำหมวก แว่นตา ร่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ไปเด็ดขาด เพราะสิ่งเหล่านี้คือการดูถูกดูหมิ่นต่อผู้ปกปักรักษาผืนดินถ้าไปเล่นพิเรนท์แล้วไม่ได้กลับออกมาก็โทษตัวเองได้เลย

ปล่องพญานาค…บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งคำชะโนด
นอกจากไปเที่ยวท่องยังป่าคำชะโนดอันลี้ลับ ยังมีอีกแหล่งที่ควรค่าไปสักการะนั่นก็คือ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ หรือที่เรียกกันว่า ปล่องพญานาค เป็นบ่อน้ำธรรมชาติที่ชาวบ้านเชื่อถือกันว่าเป็นแหล่งที่อยู่ของพญานาคใต้บาดาล บางคนได้ลองอธิษฐานให้น้ำภายในบ่อเปลี่ยนสีเป็นสีต่างๆ ก็ปรากฏว่า น้ำภายในบ่อแห่งนี้สามารถเปลี่ยนสีเป็นสีเหลือง สีแดง ได้ตามอธิษฐานจริงๆ อีกความมหัศจรรย์หนึ่งคือ จากบ่อน้ำแห่งนี้ยังมีอีก คือระดับน้ำในสระนั้นสามารถขึ้นลงได้เช่นเดียวกันกับระดับน้ำในแม่น้ำโขง ประการต่อมาคือยามที่มีบั้งไฟพญานาคบางครั้งก็จะมีลูกไฟลอยขึ้นมาจากสระน้ำแห่งนี้เช่นเดียวกัน สร้างความประหลาดใจกับชาวบ้านมานักต่อนักแล้ว อีกประการหนึ่งคือที่สระน้ำแห่งนี้จะมีฟองอากาศผุดขึ้นมาคล้ายว่า มีสิ่งมีชีวิตบางอย่างหายใจอยู่ใต้น้ำ ชาวบ้านเขาก็เชื่อว่าพญานาคท่านหายใจออกมา
ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ฉะนี้แลทำให้ผู้คนทุกชนชั้นนำน้ำภายในบ่อไปรักษาโรค ไปดื่ม ไปอาบ ไปบูชาไว้ภายในบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลของตนเองและครอบครัว บางรายก็นำน้ำภายในบ่อนี้ ไปรักษาอาการเจ็บป่วยของตนเองหรือของผู้อื่นก็ปรากฏเป็นอัศจรรย์ว่า สามารถหายจากอาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งๆ ที่บางโรคนั้น แพทย์แผนปัจจุบันก็ไม่รับรักษาแล้ว หรือเป็นเรื้อรังมานานแม้รักษาเท่าใดอาการก็ไม่เคยทุเลาเมื่อได้ใช้น้ำจากบ่อแห่งนี้ปรากฏว่า โรคที่เรื้อรังมาแต่เดิมกลับสามารถหายได้อย่างไม่คาดฝัน
ชีพจรลงเท้ากันมาถึงขนาดนี้ก็ถึงเวลาลากสังขารกลับไปนอนพัก เชื่อแน่ว่าใครมาอุดรธานีแล้วแวะเวียนไปเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ร่ายยาวครบทุกที่เป็นมงคลชีวิต คืนนั้นต้องนอนหลับฝันดี

เรื่องเล่า “ผีจ้างหนังที่คำชะโนด”
1206025543เมื่อปี พ.ศ.2532 ธงชัย แสงชัย เจ้าของบริษัทหนังเร่ เล่าว่า ตนเองถูกว่าจ้างจากใครคนหนึ่งให้ไปฉายหนังกลางแปลงที่งานวัด ที่หมู่บ้านวังทอง แถวป่าคำชะโนด ด้วยจำนวนเงิน 4,000 บาท แต่มีข้อแม้คือ ต้องฉายหนังให้ จบแค่ตี 4 ของวันใหม่ และต้องกลับออกจากหมู่บ้านก่อนฟ้าสาง โดยห้ามหันหลังกลับมามอง…

“ผีจ้างหนังที่คำชะโนด” (คนอีสานเรียก ผีบังบด หรือเมืองลับแล ไม่สามารถมองเห็นได้ทั่วไป นอกเสียจากว่าจะมีอะไรดลใจให้เห็น)

หลังจากที่วางเงินมัดจำเสร็จ เจ้าของหนังก็จัดแจงเตรียมของอุปกรณ์สัมภาระ ฟิล์มหนังที่จะนำไปฉาย ไปกับลูกน้องอีก 4 รวมเป็น 5 คน โดยบรรทุกรถ 6 ล้อมีหลังคา ออกจากตัวจังหวัดบ่ายแก่ ๆ เดินทางถึงป่าคำชะโนดก็เริ่มมืด

ระหว่างทางตามที่ผู้ว่าจ้างบอกก็ไม่เห็นว่าจะเจอหมู่บ้านหรือคนที่จะมารับ จึงนึกว่าหลงกัน ระหว่างจอดรถว่าจะย้อนกลับไปดีหรือไม่ ก็มีผู้หญิง 2 คนใส่ชุดดำมาร้องเรียกว่าจะนำไปที่วัด คนขับที่เป็นเจ้าของหนังก็รับขึ้นรถ แต่แกก็สงสัยว่า 2 คนนี้โผล่มาจากไหนในที่มืดๆ อย่างนี้ พาหนะอะไรก็ไม่มี

เมื่อขับเข้าไปในหมู่บ้านก็ยิ่งให้ชวนสงสัยใหญ่ว่า ทำไมไม่มีเสียงลำโพงออกมาจากงานวัด ไม่มีเสียง หมอลำ หรือการละเล่นอะไรเลย พอไปถึงหมู่บ้านก็มีคนมารับ แต่แปลกว่าทุกคนจะใส่เสื้อสีขาวกับดำ ถ้าเป็นผู้ชายใส่ชุดขาว ผู้หญิงใส่ชุดดำแยกให้เห็นชัดเจนแม้แต่เด็ก แต่ที่แปลกทุกคนจะทาหน้าขาวหมดเหมือนใช้ครีมพอกหน้า

เมื่อถึงที่แล้วทุกคนก็เริ่มตั้งจอภาพยนตร์ เดินสายไฟ และเปิดเครื่องปั่นไฟ ระหว่างที่กำลังกุลีกุจอติดตั้งก็เริ่มเห็นผู้คนทยอยมานั่งดูหนัง แต่จะแยกชายหญิงชัดเจน ไม่นั่งรวมกัน และปกติของงานวัดจะต้องมีแม่ค้าแม่ขายมาขายน้ำ ขายถั่ว ขายปลาหมึกย่าง แต่ที่นี่กลับไม่มีแม่ค้าสักคน พอติดตั้งเสร็จก็เริ่มฉายหนัง หนังที่เอาไปฉายมี 4 เรื่อง เรื่องแรกเป็นหนังสงคราม เรื่องที่ 2 เป็นหนังตลกแอ็คชั่น เรื่องที่ 3 กับ 4 เป็นหนังผี ระหว่างฉายคนพากย์ก็พยายามพากย์ยิงมุกตลกๆ แต่ไม่มีใครหัวเราะหรือแสดงอารมณ์อย่างใดเลย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไปฉายที่ไหน คนก็จะหัวเราะตลอด

จนเริ่มฉายเรื่องที่ 3 ที่เป็นหนังผี สังเกตท่าทางคนที่มาดูเริ่มตั้งใจดู ทั้งที่บรรยากาศตอนนั้นก็เที่ยงคืนดูน่ากลัวมากๆ ระหว่างนั้นทางเจ้าภาพก็จัดข้าวต้มถ้วยเล็กมาให้ทีมงานฉายหนังกินกัน ทางทีมงานเห็นแล้วก็ละเหี่ยใจ มีแต่ข้าวต้มซีดๆ กะเนื้อชิ้นเล็กๆ แต่เพื่อไม่ให้เป็นการเสียน้ำใจ ทางทีมงานก็เลยกินกัน ปรากฎว่าเป็นข้าวต้มที่อร่อยที่สุดที่เคยกินกันมา

หลังจากฉายหนังจบถึงตี 2 ผู้คนก็แยกย้ายกันกลับ แป๊บเดียวก็สลายไปหมด ไม่มีใครเหลืออยู่เลย ทางทีมงานก็เก็บอุปกรณ์ขึ้นรถ โดยมีผู้หญิงสองคนนั่งรถออกมาส่ง ก่อนจะร่ำลาก็จ่ายค่าจ้างที่เหลือซึ่งเป็นเงินเหรียญทั้งหมด พอออกมาส่งถึงปากซอยผู้หญิงสองคนนั้นลงจากรถ พอรถออกตัวคนขับที่เป็นเจ้าของหนังกลางแปลงหันกลับมาดูก็ไม่เห็นผู้หญิง 2 คนนั้นแล้ว

หลังจากกลับมาถึงบริษัท ธงชัย ก็เกิดความสงสัย จึงเช็คประวัติกับผู้ว่าจ้างที่ถ่ายเอกสารให้ตอนวางมัดจำ ก็พบตัวว่ามีชื่อนี้จริง แต่เจ้าตัวบอกว่าไม่เคยไปว่าจ้างใครไปฉายหนังตามวันและเวลาที่บอก เมื่อสงสัยจัดก็เลยสอบถามไปยังเจ้าอาวาสวัดที่เอาหนังไปฉาย ทางเจ้าอาวาสก็บอกว่าในวันนั้นที่วัดไม่ได้มีการจัดงานแต่อย่างใด แต่เจ้าอาวาสเล่าว่า ในคืนวันที่เจ้าของหนังมาบอกว่ามีการฉายหนัง ที่ป่าคำชะโนดจะมีเสียงซู่ๆ เหมือนกับมีพายุพัดเข้ามา ทั้งๆ ที่คืนนั้นไม่มีลมใหญ่พัดมาจากไหนเลย