ชาวสุรินทร์ชนเผ่าเขมรพื้นเมืองจัดงาน “แซนโฎนตา”

645

ชาวสุรินทร์ชนเผ่าเขมรพื้นเมืองร่วมจัดงานประเพณีแซนโฎนตาบูชาบรรพบุรุษยิ่งใหญ่ เพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรุษ อุทิศส่วนบุญแก่ผู้ล่วงลับ ลูกหลานได้แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ และพบปะญาติมิตร เกิดความสามัคคีระหว่างพี่น้อง ได้พึ่งพาอาศัยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ช่วงบ่ายวันนี้ (28 ก.ย.) ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง ถนนกรุงศรีนอก เทศบาลเมืองสุรินทร์ นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานเปิดงานประเพณีทำบุญเดือนสิบ “ทำบุญแซนโฎนตาบูชาบรรพบุรุษ” ปี 2559 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 10 โดยมี นายกิติศักดิ์ รุ่งธนิเกียรติ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานจัดงาน ร่วมกับเทศบาลเมืองสุรินทร์ และประชาชนชาวสุรินทร์ และชนเผ่าเขมรพื้นเมืองสุรินทร์

โดยผู้หญิงแต่งกายประจำถิ่นด้วยผ้าถุงไหม เสื้อไหมสีขาว และชายนุ่งโสร่งผ้าไหม สวมเสื้อสีขาว จัดริ้วขบวนแห่ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ขบวนเครื่องเซ่นไหว้แซนโฎนตา เช่น ไก่ เนื้อ หมู ปลา ข้าวสาร ข้าวสวย ผลไม้ ขนมกระยาสารท และข้าวต้มหางยาว ข้าวต้มใบมะพร้าว ใส่กระเชอแซนโฎนตา เคลื่อนขบวนจากด้านหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์มายังด้านหน้าอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง สถานที่ประกอบพิธี และวางเครื่องไหว้ไว้โดยรอบอนุสาวรีย์

จากนั้น นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ไหว้พระรับศีลห้า ก่อนมีการร่ายรำบวงสรวงอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง ผู้สร้างเมืองสุรินทร์คนแรก พร้อมทั้งรับเครื่องแซนโฎนตาจากตัวแทนขบวนแห่ทั้ง 9 ชุมชน พร้อมพิธีเซ่นไหว้รอบอนุสาวรีย์ พระสงฆ์ 10 รูปสวดอาราธนาธรรม สวดทักษิณานุประทาน เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วให้ได้รับส่วนบุญส่วนกุศลตามที่ผู้มาร่วมงานได้ตั้งใจทำในวันนี้

สำหรับประเพณีแซนโฎนตาเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณ “แซนโฎนตา” หมายถึง การทำบุญให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ให้ได้รับกุศลผลบุญที่ลูกหลานได้อุทิศไปให้ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามดั้งเดิมของจังหวัดสุรินทร์ที่ชนเผ่าเขมรในท้องถิ่นได้ถือปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งตรงกับแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี

โดยในวันนี้ชนเผ่าเขมรท้องถิ่นถือว่าเป็นวันรวมญาติ ซึ่งทุกคนจะหยุดภาระหน้าที่การงานทั้งหมด และนัดหมายไปรวมกันที่บ้านเป็นจุดศูนย์กลางของครอบครัว โดยเฉพาะบ้านของผู้ที่อาวุโสที่สุดของครอบครัว พร้อมกับเตรียมอาหาร เช่น ไก่ เนื้อ หมู ปลา ข้าวสาร ข้าวสวย ผลไม้ ขนมกระยาสารท และข้าวต้มหางยาวใส่กระเชอโฎนตา และอาหารคาวหวาน ที่ร่วมกันทำเพื่อเตรียมเซ่นไหว้บรรพบุรุษของตนที่ล่วงลับไปแล้ว

ประเพณีแซนโฎนตา นอกจากเป็นการอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ยังเป็นกุศโลบายของบรรพบุรุษที่มีจุดมุ่งหมายให้ลูกหลานได้แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ และยังได้มีโอกาสพบปะญาติมิตรเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เกิดความสามัคคีระหว่างพี่น้องในตระกูลเดียวกัน ญาติมิตรได้พึ่งพาอาศัยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

อีกทั้งยังมีความเชื่อว่า วันแซนโฎนตา หากลูกหลานคนใดไม่ได้จัดทำ หรือไม่ไปร่วมแซนโฎนตาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร บรรพบุรุษอาจไม่พอใจ ส่งผลให้การดำรงชีวิต การทำมาหากินไม่ราบรื่น จิตใจเป็นกังวลไม่เป็นสุข ด้วยความเชื่อนี้ทุกคนจึงพยายามไปร่วมพิธี หรือจัดเครื่องเซ่นไหว้ที่บ้านของตน เพื่อความเป็นสิริมงคลที่จะเกิดขึ้นแก่ตนเอง และครอบครัว ส่งผลให้มีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงานต่อไป