เห็ดกระถินพิมาน เพาะตามกระแสอาจถึงเจ๊ง ต้องเพาะเพื่อการวิจัยต่อยอดระดับประเทศ

1352

คุณจันที สวัสดิ์นที อดีตข้าราชการครูวัย 60 ปี แห่งบ้านหนองหว้า ตำบลนาเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ลาออกจากชีวิตครูมาสู่อาชีพเกษตรกรเต็มตัวเมื่ออายุ 42 ปี หลังจากทดลองทำโรงเรือนเพาะเห็ดมาตั้งแต่ปี 2528 มั่นใจเป็นรายได้หลัก ล่าสุดผันตัวเองเป็นนักวิจัยท้องถิ่น ใช้ประสบการณ์และความรู้จากการเพาะเห็ดพื้นบ้านทั่วไป สู่โรงเรือนเพาะเห็ดฟีลีนัส ฉายาราชาแห่งเห็ด เพราะมีจุดเด่นเป็นเห็ดที่ขนาดใหญ่มาก ดอกเห็ด 1 ดอกที่เป็นสายพันธุ์ มีน้ำหนักถึง 5 กิโลกรัม และคุณสมบัติที่โดดเด่นคือ ไม่มีวันตาย หรือ “เห็ดเนเวอร์ ดาย” (never die) นั่นเอง เพราะเมื่อนำเห็ดฟีลีนัสที่แห้งไปรดน้ำใหม่ เพียง 2-3 วัน เห็ดฟีลีนัสก็จะกลับฟื้นคืนชีพราวกับมีใครไปชุบชีวิตให้มันใหม่

คุณจันที เล่าว่า มีชาวฮอลันดา นำ “เห็ดฟีลีนัส” มาให้ทดลองเพาะครั้งแรกเมื่อปี 2550 โดยนำพันธุ์เห็ดฟีลีนัสดอกใหญ่มีน้ำหนักราว 5 กิโลกรัม ต่อดอก และเห็ดฟีลีนัสดอกเล็ก น้ำหนักประมาณ 2-3 กิโลกรัม มาเป็นตัวอย่างในการนำไปเพาะเชื้อและทดลองปลูก โดยครั้งแรกเริ่มทดลองปลูกในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี โดยในเวลานั้นยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกเห็ดฟีลีนัสในไทย จึงต้องอาศัยประสบการณ์การเพาะเห็ดมา 22 ปี (ตั้งแต่ปี 2528-2550) มาใช้กับการทดลองเพาะเห็ดฟีลีนัสซึ่งประสบความสำเร็จในปีแรกของการทดลอง

“แม้ผมจะประสบความสำเร็จตั้งแต่ปีแรกที่ทำการทดลอง แต่เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มากพอ น่าเชื่อถือได้ และมีความแน่นอน จึงทดลองเพาะเห็ดฟีลีนัสอีก 1 ปี รวมระยะเวลาทดลองเพาะ 2 ปี โดยพบว่าเห็ดชนิดนี้เพาะเลี้ยงโดยใช้กรรมวิธีเดียวกับเห็ดทั่วๆ ไป ด้วยการเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์ด้วยอาหารวุ้น PDA เลี้ยงเชื้อขยายด้วยเมล็ดธัญพืช และเพาะเพื่อเปิดดอกด้วยขี้เลื่อยยางพารา เมื่อได้ผลผลิตเป็นดอกเห็ดก็มีการนำไปสกัดเพื่อหาปริมาณสารออกฤทธิ์ที่ต้องการ” คุณจันที เล่าให้ฟัง

เมื่อ 9 ปีที่แล้ว คุณจันทีทดลองปลูกเห็ดฟีลีนัส โดยเพาะเนื้อเยื่อในโรงเรือน ด้วยวิธีแยกเนื้อเยื่อของเห็ด จากนั้นเลี้ยงอาหารเห็ดฟีลีนัสด้วยอาหารวุ้นให้เป็นเส้นขยาย ซึ่งในเวลานั้นเชื้อของเห็ดก็จะมีการขยายในเมล็ดข้าวฟ่าง เมื่อเส้นใยเต็มก็นำมาลงในถุงเพาะจำนวน 10,000 ถุง และจัดทำที่อยู่ให้เห็ดฟีลีนัสภายใต้โรงเรือนขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 9 เมตร

4

“การเพาะเห็ดฟีลีนัสจะมีความยากกว่าเห็ดชนิดอื่นตรงที่ หลังเพาะเนื้อเยื่อได้แล้วและมีการนำมาลงถุงเพาะ จนขึ้นเป็นดอกเห็ด ระยะเวลาการเติบโตของเห็ดฟีลีนัส จะอยู่ที่ประมาณ 1 มิลลิเมตร ต่อวัน ขณะที่เห็ดทั่วไปจะมีการเติบโต 3-5 มิลลิเมตร ต่อวัน” คุณจันที เล่าให้ฟังถึงข้อแตกต่างของเห็ดฟีลีนัสกับเห็ดทั่วๆ ไป

ที่สำคัญยังพบว่า เห็ดฟีลีนัสมักชอบขึ้นในแหล่งที่มีต้นไม้ เยื่อไม้ กากไม้ ไม่ใช่เห็ดที่ขึ้นบนดินเหมือนเห็ดเปราะ เห็ดโคน และเห็ดพื้นบ้านทั่วไป รวมทั้งคุณสมบัติของเห็ดฟีลีนัส ยังขึ้นได้ดีในประเทศที่มีภูมิอากาศร้อนอย่างโซนประเทศไทย กัมพูชา และลาว

“ที่ประเทศกัมพูชาพบว่า เห็ดฟีลีนัสขึ้นได้ดีมาก แต่ปัจจุบันป่าไม้ที่กัมพูชาถูกทำลายไปจำนวนมาก และไม่มีใครศึกษาการเพาะเห็ดฟีลีนัสเพื่อการวิจัยและพัฒนาเป็นยาอย่างจริงจัง ทำให้ชาวฮอลันดาคนดังกล่าว ต้องมาอาศัยชาวไทยในการเริ่มต้นวิจัยเพาะเห็ดฟีลีนัส โดยอาศัยจากประสบการณ์ที่ทำเห็ดมานานเป็นอันดับแรก สังเกตว่าเห็ดฟีลีนัสชอบอาหารที่มาจากไม้ ขึ้นได้ตามต้นไม้ จึงจัดการทำโรงเรือนคัดเชื้อเห็ดฟีลีนัสตามกระบวนการเหมือนกับเพาะเห็ดทั่วไป และใส่อาหารที่เห็ดฟีลีนัสชอบ ซึ่งเวลานั้นไม่ได้เดินไปขอคำปรึกษาหรือขอข้อมูลจากหน่วยงานด้านการเกษตร แต่ใช้ความรู้จากประสบการณ์โดยตรง ซึ่งยอมรับว่ายาก เพราะไม่รู้เลยว่าเห็ดฟีลีนัสจะโตอย่างไร จะเหมือนกับเห็ดทั่วไปหรือไม่ และใช้เวลานานเท่าไรในการเพาะแต่ละครั้ง” คุณจันที เล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเองถึงที่มาที่ไปในการนำเห็ดฟีลีนัสมาทดลองเพาะ

ในต่างประเทศ อย่างเกาหลี มีการวิจัยพบว่า สารในเห็ดชนิดนี้ สามารถยับยั้งการแพร่ของเซลล์โรคบางอย่างได้ แต่ในไทยยังไม่มีการวิจัย

เห็ดฟีลีนัสมีจุดเด่นและมีข้อดีหลายอย่างที่ทำให้ได้รับฉายาว่าเป็นราชาแห่งเห็ด แต่เห็ดฟีลีนัสก็ไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างหวือหวา เนื่องจากจุดอ่อนของเห็ดฟีลีนัส กว่าจะเก็บผลผลิตจำหน่ายได้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี อย่างโรงเพาะเห็ดฟีลีนัสของคุณจันทีจะได้เวลาเก็บเห็ดฟีลีนัสในช่วงเดือนมกราคม ปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งผลผลิตดังกล่าวเป็นรอบที่คุณจันทีเพาะตั้งแต่ปี 2557 โดยประคบประหงมเห็ดฟีลีนัสไปเรื่อยๆ ดูแลกันเหมือนลูกเลยก็ว่าได้ ซึ่งถามว่าเงินทุนใช้ไปเท่าไร คุณจันทีถึงกับบอกว่า ใส่เงินไปทุกวัน แต่เนื่องจากมีพื้นฐานเพาะเห็ดทั่วไป อย่างเห็ดนางฟ้า และเห็ดขอนขาว มา 22 ปี ตั้งแต่ปี 2528 ถึงปี 2550 ทำให้สามารถนำประสบการณ์มาปรับใช้กับการเพาะเห็ดฟีลีนัสได้ และไม่ล้มเหลวกับจุดเริ่มต้นเมื่อ 9 ปีที่แล้ว

“ผมแนะนำว่าถ้าจะปลูกเห็ดฟีลีนัสเพื่อหวังทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ ไม่ควรทำ เพราะว่าจะให้ผลผลิตอย่างน้อยก็ต้อง 3 ปีขึ้นไป ถึงจะเก็บไปขายได้ โดยได้ปริมาณเพียง 200-300 กิโลกรัม ต่อจำนวนถุงเพาะ 10,000 ถุง ถ้าเทียบกับเพาะเห็ดทั่วไปจะได้ผลผลิตที่มากกว่าและเร็วกว่ากันมาก” คุณจันที เล่าอย่างเปิดใจ

คุณจันที ยังบอกด้วยว่า ถ้าจะให้เกิดมูลค่าต่อภาคเกษตรกรรมและรายได้เข้าประเทศ ทางภาครัฐควรให้การใส่ใจนำเห็ดฟีลีนัสไปวิจัยอย่างจริงจัง และแปรรูปออกมาทั้งการสกัดเป็นยา หรืออาหารเสริม ก็แล้วแต่ผลการวิจัย เพราะทุกวันนี้มีแต่ผลงานวิจัยในต่างประเทศที่รับรอง ขณะที่ในไทยขาดแคลนการสนับสนุนด้านนี้ ทั้งๆ ที่เห็ดฟีลีนัสขึ้นได้ดีในเมืองร้อนอย่างประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายกับโอกาสในการพัฒนาต่อยอดด้านงานวิจัยของไทย

“ผมอยากแนะให้ทางภาครัฐเพาะเห็ดฟีลีนัสเพื่อการวิจัย เพราะเรื่องเห็ดเป็นงานใหญ่ ทำเฉพาะพ่อค้าไม่ได้ จะต้องประกอบไปทุกภาคส่วน ได้แก่ ทีมแพทย์และนักวิจัย, คนเพาะหรือเกษตรกร, ผู้บริโภค และที่สำคัญคือเรื่องเงินทุน ทั้งหมดนี้จะต้องประกอบกัน เราก็จะได้รู้อะไรมากขึ้นเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของเห็ดฟีลีนัส และนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศไทยได้” คุณจันที เล่าถึงแนวคิดที่สั่งสมมาจากประสบการณ์

วันนี้โรงเพาะเห็ดของคุณจันทีอยู่ที่ถิ่น คือกำเนิดที่จังหวัดร้อยเอ็ด โดยสร้างฟาร์มเห็ดหลากหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือ เห็ดฟีลีนัสจำนวน 20,000 ก้อน ซึ่งคุณจันทีทิ้งท้ายว่า หากบุคคล องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนสนใจร่วมศึกษาสรรพคุณทางยาของเห็ดฟีลีนัสไปพร้อมๆ กับคุณจันที ติดต่อได้ที่ คุณจันที สวัสดิ์นที บ้านเลขที่ 87 บ้านหนองหว้า ตำบลนาเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด รหัสไปรษณีย์ 45120 หรือโทรศัพท์ (084) 419-4089