พระธาตุโพนจิกเวียงงัว หนึ่งตำนานลุ่มน้ำโขง

1707


1233443_664941390183317_901656943_nปฐมเหตุที่พระพุทธศาสนาประดิษฐานในดินแดนสุวรรณภูมิลุ่มน้ำโขง

จากพระคัมภีร์อุรังคธาตุ ตำนานพระธาตุพนม ซึ่งถือเป็นตำนานที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเก่าแก่ที่สุดในภาคอีสาน ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ที่พระเชตะวันวิหาร ใกล้กรุงสาวัตถี ทรงรำพึงพิจารณาดูพุทธโบราณประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ที่ล่วงมาแล้วคือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ และพระกัสสปะ ซึ่งเสด็จเข้าสู่พระนิพพานไปแล้วในอดีตนั้น พระองค์ทรงรู้ด้วยพระญาณว่า พระสาวกของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 องค์ดังกล่าวนั้น ล้วนได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้าเหล่านั้นไปประดิษฐานไว้ ณ ดอยกปณคีรี (บางตำราเขียน ดอยกัปปนคิรี ปัจจุบันสถาน คือภูกำพร้า ที่ประดิษฐานองค์พระธาตุพนม อำเภอพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม) ใกล้เมืองศรีโคตรบอง
เมื่อใกล้รุ่งวันใหม่ หลังจากพระอานนท์อุปฐากด้วยน้ำและไม้สีฟันแด่พระพุทธองค์แล้ว พระพุทธองค์ทรงผ้ากำพลสีแดงงาม ทรงบาตรแล้วหันหน้าสู่ทิศตะวันออก พระอานนท์นำพุทธลีลามาทางอากาศ เสด็จลงที่ดอนกอนเน่า (บางตำราเขียนดอนกอนเนาว์ นักปราชญ์บางท่านให้ความเห็นว่า คือวัดเนินพระเนาว์ ในนครเวียงจันทน์ปัจจุบัน) แล้วจึงมาสถิตอยู่แคมหนองคันแทเสื้อน้ำ (ปัจจุบันสถาน คือลุ่มน้ำโขง เขตอาณาจักรล้านช้างเดิม) ทรงทอดพระเนตรเห็นแลนคำแลบลิ้นที่โพนจิกเวียงงัว ใต้ปากห้วยกุคำ (บางตำราเขียน คุคำ) พระพุทธเจ้าทรงกระทำหสิตุการแย้มหัว (แย้มพระโอฐ) พระอานนท์จึงไหว้ว่า พระพุทธเจ้าทรงแย้มหัวด้วยเหตุสิ่งใด พระพุทธเจ้าจึงมีพุทธพยากรณ์แก่พระอานนท์ว่า ดูราอานนท์ ตถาคตเห็นแลนคำแลบลิ้นให้เป็นเหตุ ดินแดนสุวรรณภูมินี้ เป็นที่อยู่แห่งนาคทั้งหลาย มีสุวรรณนาคเป็นเค้า แลผีเสื้อน้ำเสื้อบก ยักษ์ทั้งมวล อีกทั้งมีพุทธพยากรณ์เกี่ยวกับความเป็นไปของบ้านเมืองและกษัตริย์ที่จะครอบครองเมืองในอนาคตในดินแดนสุวรรณภูมิลุ่มน้ำโขง ซึ่งรายละเอียดมีปรากฏในคัมภีร์อุรังคธาตุ แล้วนั้น จะไม่นำมากล่าวในที่นี้

1276164_664940890183367_913820033_o ในคัมภีร์อุรังคธาตุ ยังได้กล่าวอีกตอนหนึ่งว่า แลนคำตัวนั้น คือปัพพาละนาค ที่อาศัยอยู่ภูลวงริมน้ำบังพวน (ปัจจุบันสถาน คือ วัดพระธาตุบังพวน ตำบลพระธาตุบังพวน อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย) ได้เนรมิตเป็นเหตุให้นาคตัวนั้น ประดับสังวาลย์คอด้วยแก้วประพาฬ จึงได้ชื่อว่า ปัพพาละนาค ครั้นแล้ว นาคตัวนั้น ก็กลายร่างเป็นมนุษย์นุ่งห่มขาว เข้ามารับเอาบาตร ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าไปสู่ภูลวง เมื่อเสด็จถึงภูลวง พระพุทธองค์ได้ประทับภายใต้ร่มไม้ป่าแป้งต้นหนึ่ง (ต้นโพธิ์) ปัพพาละนาค ถวายภัตตาหาร หลังจากพระพุทธองค์ทรงกระทำภัตตกิจเสร็จแล้ว จึงประทานผ้ากำพลผืนหนึ่งแก่ปัพพาละนาคนั้น เสร็จแล้ว จึงเสด็จไปฉันเพลที่ใกล้เวินหลอด หรือเวินเพล ก็เรียก (ปัจจุบันสถาน คือโพนฉัน อยู่ฝั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว บริเวณริมฝั่งโขงตรงกันข้ามกับบ้านโพนแพง อำเภอรัตนวาปี จังหวัดหนองคาย) เมื่อฉันเพลเสร็จแล้ว สุกขหัตถีนาค เนรมิตตนเป็นช้างถือดอกไม้มาขอเอารอยพระพุทธบาท พระองค์ได้ย่ำรอยพระพุทธบาทไว้ที่แผ่นหิน ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำโขง ชั่วระยะช้างร้องได้ยิน (ปัจจุบันสถาน คือพระบาทโพนฉัน) จากนั้น เสด็จไปยังเมืองศรีโคตรบอง แคว้นโคตรบูร มีพญาปลาตัวหนึ่ง ได้เห็นรัศมีพระพุทธเจ้า จึงมาวนเวียนขอรอยพระพุทธบาทไว้สักการะ พระองค์ทรงทราบด้วยพระญาณ จึงอธิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้ที่แผ่นหินในน้ำ (ปัจจุบันสถาน คือพระบาทเวินปลา) เสร็จกิจแล้ว พระพุทธองค์ก็เสด็จประทับที่ดอยกปณคีรี หรือภูกำพร้า แคว้นโคตรบูร วันรุ่งขึ้น ก็เสด็จกลับสู่พระเชตะวันวิหาร

เบื้องต้นแห่งพระบรมสารีริกธาตุ
553677_664941076850015_562160929_nจากพระคัมภีร์มหาปรินิพพานสูตร ตอนหนึ่ง ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานได้ 7 วัน ก็มีพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ นครกุสินารา ให้กษัตริย์มัลละ 4 พระองค์ นำพระเพลิงไปจุดทั้งสี่ทิศ พยายามจุดอย่างไรก็ไม่ติด พระเถระผู้ใหญ่ จึงมีคำสั่งให้รอการจุดเพลิงไว้ก่อน จนกว่าพระมหากัสสปเถระผู้เป็นประธาน เดินทางกลับมาถึง เมื่อพระมหากัสสปเถระพร้อมด้วยพระอรหันต์ทั้ง 500 องค์มาถึงแล้ว ขณะกำลังกระทำพิธีสักการะพระบรมศพอยู่นั้น พระบรมศาสดาทรงกระทำพระปาฏิหาริย์ให้พระบาทก้ำขวา (เบื้องขวา) ยื่นออกมาจากพระหีบทอง เพื่อให้พระมหากัสสปเถระกระทำสักการะ และพระอุรังคธาตุที่ห่อหุ้มด้วยผ้ากำพล ก็ทรงปาฏิหาริย์ เสด็จออกมาจากพระหีบทอง มาประดิษฐานบนฝ่ามือเบื้องขวาของพระมหากัสสปเถระอัครสาวก ขณะนั้น เพลิงก็บังเกิดลุกติดขึ้นเองโดยทันใด เปลวเพลิง ทำลายพระสรีระของพระบรมศาสดา ส่วนพระบรมธาตุกระโบงหัว (อุตมางค-สิโรตม์) นั้น ฆฏิการพรหม อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ยังพรหมโลก พระธาตุแข้วหมากแง (พระเขี้ยวแก้ว) โฑณพราหม์ เอาซ่อนไว้ที่มวยผม แล้วพระอินทร์อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในชั้นดาวดึงส์ พระธาตุกระดูกด้ามมีด (พระรากขวัญ) พญานาคนำไปประดิษฐานไว้ที่บาดาลหรือเมืองพญานาค ซึ่งพระบรมธาตุที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ มิได้เป็นอันตรายจากพระเพลิง ยังปกติดีอยู่ตามเดิม ส่วนพระบรมธาตุนอกนั้น ถูกเพลิงเผาไหม้ แปรสภาพเป็น 3 ขนาดคือ ขนาดใหญ่ เท่าเมล็ดถั่วกวาง (ถั่วแตก) ขนาดที่ 2 เท่าเมล็ดข้าวสารหัก ขนาดที่ 3 เท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด มัลลกษัตริย์แห่งกุสินารานคร ได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในถ้ำสัตตปัณคูหา

ครั้นต่อมาอีก 7 วัน มีกษัตริย์ 6 นคร และพราหมณ์ 1 นคร ได้จัดขบวนทัพและนำพระราชสาส์นมาขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ได้แก่
1. พระเจ้าอชาตศัตรู แห่งนครราชคฤห์
2. กษัตริย์ลิจฉวี แห่งนครเวสาลี
3. กษัตริย์ศากยะ แห่งนครกบิลพัศดุ์
4. กษัตริย์ถูลิ แห่งนครอัลลกัปปะ
5. กษัตริย์โกลิยะ แห่งนครรามคาม
6. กษัตริย์มัลละ แห่งนครปาวา
7. มหาพราหมณ์ เจ้าเมืองเวฏฐฑีปกนคร

แต่แล้ว มัลลกษัตริย์ แห่งกุสินารานคร ไม่ยินยอมแบ่งให้ ถือว่าตนมีกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว และแล้ว กองทัพทั้ง 7 นคร ก็มีพระราชสาส์นยื่นคำขาดว่า หากกษัตริย์กุสินาราไม่ยอมแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ จะกระทำสงครามแย่งชิงเอา ระหว่างนั้น พระอรหันต์ทั้งหลาย มีพระมหากัสสปเถระ พระอานนท์ เป็นต้น มองเห็นเหตุการณ์อันจะไม่สงบเกิดขึ้น จึงหาทางระงับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดย มอบให้โฑณพราหมณ์ ทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งครั้งนี้ โดยโฑณพราหมณ์ ได้ยกคำสอนของพระพุทธเจ้า แสดงให้ทุกฝ่ายยอมตกลงกันโดยสันติ แล้วแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วนให้เสมอกันทุกนคร เพื่อนำไปสักการะในนครของตน กองทัพทั้ง 7 นคร ก็ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุถึงบ้านเมืองของตน ประดิษฐานไว้ในเรือนแก้ว เฉลิมฉลองแห่งละ 7 วัน ทุกนคร เสร็จแล้วอัญเชิญไว้ในสถูปเป็นที่สักการบูชาสืบไป

ที่มา : www.nongkhaiupdate.com