ตามรอยธรรม พระ 9 วัด ที่ อำเภอท่าบ่อ

3253

นอกจากหลวงพ่อองค์ตื้อ ที่เป็นที่รู้จักกันทั้งประเทศ อำเภอท่าบ่อ อำเภอเล็กๆในจังหวัดหนองคาย ที่มีความเพียบพร้อมทั้งอาหารเวียดนามที่หลากหลาย ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ทั้ง คนไทย คนจีน คนลาว คนเวียดนาม ท่าบ่อยังถือเป็นศูนย์กลางทางศาสนาอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดหนองคาย จังหวัดที่มีวัดมากที่สุดติดอับดับต้นๆ ของประเทศไทยอีกด้วยครับ

หลวงพ่อองค์แสน วัดเจติยาราม ตำบลบ้านว่าน อำเภอท่าบ่อ

วัดเจติยารามเป็นวัดเก่าแก่และเป็นหมู่บ้านเก่าต่อมาชาวบ้านได้อพยพมาจากบ้านน้ำปาดเมืองพวนของประเทศลาวพอมาถึงจนได้พากันหยุดพักอาศัยใต้ต้นมะขามใหญ่ปัจจุบันยืนต้นอยู่และอยู่ใต้ต้นมะม่วงใหญ่บริเวณใกล้ที่พักก็มีพระธาตุเขียนคำว่า ร.ศ.๑๐๑ ส่วนหลวงพ่อองค์แสนก็มีมาตั้งแต่ก่อนที่หมู่บ้านโพนธาตุจะเกิดขึ้นมาตามคนเฒ่าเล่าขานกันมาหลวงพ่อองค์แสนเป็นพี่น้องกันกับหลวงพ่อองค์ตื้อ พระองค์ตื้อถูกสร้างขึ้นมาก่อนและหลังก็มาสร้างหลวงพ่อองค์แสนต่อคู่กับพระธาตุที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้

หลวงพ่อแสนห้า วัดกุมภประดิษฐ์ ต.โพนสา อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย

หลวงพ่อแสนห้า เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์มาก สร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2213 ซึ่งมีผู้มีจิตศรัทธาสองพี่น้องเป็นเจ้าภาพหลัก คือ พี่ชายชื่อ แสน น้องชายชื่อ ห้า จึงได้นามเรียกขนานว่า “หลวงพ่อแสนห้า” ในการดำเนินการสร้างนอกจากสองพี่น้องแล้วยังมีพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมากร่วมเป็นเจ้าภาพ เพื่อใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชน มีพุทธศาสนิกชนเคารพเลื่อมใสและเดินทางไปกราบขอพร และได้รับความสมหวังเป็นจำนวนมาก

พระพุทธมงคลชัย วัดเทพมงคล ตำบลโพนสา อำเภอท่าบ่อ
วัดเทพมงคล สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๑๗๘ ตั้งอยู่เลขที่ ๒๓๒ บ้านโพนสา หมู่ที่ ๘ ตำบลโพนสา อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ปูชนียวัตถุมีพระพุทธรูปพระประธานเป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัยฐานมีจารึกอักษรตัวธรรมอิสาณศิลปะล้านช้าง หน้าตักกว้าง ๘๐ เซนติเมตร และพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านช้าง หน้าตักกว้าง ๔๐ เซนติเมตร จำนวน ๑๐ องค์

หลวงพ่อทองแสน วัดท่าคกเรือ ตำบลท่าบ่อ อำเภอท่าบ่อ

หลวงพ่อทองแสน เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่กว่า ๑,๐๐๐ ปี มีลักษณะงดงามมากองค์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยแบบศิลปะล้านช้าง หล่อด้วยทองสำริดเป็นสองท่อน องค์พระพุทธรูปน้ำหนักแสนสองหมื่นหกพัน ส่วนแท่นหนักสองแสนทองหน้าตักกว้าง ๓๔ นิ้ว สูง ๕๑ นิ้ว สร้างราวจุลศักราช ๑๕ พระยาหลวงสุคนธวงศ์ราชเจ้า เป็นผู้สร้างและได้จารึกอักษรธรรมล้านช้างไว้ที่ฐานพระพุทธรูป ซึ่งได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดท่าคกเรือสืบต่อมา ท่านที่มีโอกาสมาเที่ยวท่าบ่อ อย่าลืมแวะไปกราบไหว้บูชา เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

หลวงปู่ใหญ่ วัดป่าหนองกก (วัดกัสสปมธุโรม) ตำบลบ้านถ่อน อำเภอท่าบ่อ

วัดกัสสปมธุโรมเป็นวัดเก่าแก่มีอายุประมาณ ๑,๐๐๐ กว่าปี ตามประวัติและความเป็นมาตามหนังสืออุรังคธาตุกล่าวไว้ว่า พระอรหันต์ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๔ องค์ คือ พระพุทธลักขิตเถระ พระธรรมลักขิตเถระ พระสังฆลักขิเถระ และพระมหากัสสปะเถระ ได้รำพระบรมสารีริกธาตุ(กระดูก) ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้ามาที่บ้านหนองกก เพราะพระพุทธองค์ทรงสั่งไว้ว่าให้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานที่ภูหลวง โดยภูหลวงนี้จะมีห้องน้ำใหญ่อยู่ข้างๆ พอมาถึงบ้านหนองกกแลเห็นหนองน้ำใหญ่ก็เข้าใจว่าเป็นภูหลวงจึงทำการจัดสร้างโบสถ์ สร้างพระประธานองค์ใหญ่ขึ้น

พระบุญปั้น วัดพระยืน ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ
วัดพระยืน ตำบลกองนาง บ้านห้วยมาง ในปัจจุบัน ซึ่งก็คือบริเวณลำน้ำโมง หรือห้วยนกยูง ในอดีต ฝั่งซ้ายคือวัดศรีชมพูองค์ตื้อ ที่พระไชยเชฎฐา ฯ สร้างพระเจ้าองค์ตื้อด้วยโลหะ ฝั่งขวาคือเวียงวังเก่าที่พระนางหยาดคำทิพย์ มีพระราชเสาวนีย์ให้ก่ออิฐถือปูนสร้างพระพุทธรูปยืนพระเจ้าไชยเชฎฐาปางเปิดโลก สูง ๙ เมตร และสร้างพระพุทธรูปนอนพระโพธิสาร ฯ ยาว ๑๔ เมตร

พระอินทร์แปลง วัดจำปาทอง ตำบลกองนาง อำเภอท่าบ่อ
หลวงพ่ออินทร์แปลง ตามที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าต่อกันมาว่า เดิมสร้างโดยพระนางเขียวค้อม พระชายาของพระชัยเซษฐา แห่งกรุงศรีสัตตนาคหุต(เวียงจันทร์) อายุประมาณ ๔๕๐ ปี หรือประมาณ พ.ศ. ๒๑๐๐ สร้างขึ้นด้วยปูนปั้นและอิฐดินกี่ ซึ่งแต่ก่อนชาวบ้านเรียกหลวงพ่ออินทร์แปลงว่าหลวงพ่อองค์ตื้อดงยางเพราะเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดเท่ากับหลวงพ่อองค์ตื้อ วัดศรีชมพูองค์ตื้อ และมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่การสร้างพระพุทธรูปของพระชัยเชษฐาจะถือตามคติโบราณ คือการสร้างพระพุทธรูปคู่บารมีก็คือหลวงพ่ออินทร์แปลงเป็นพระคู่บารมีกับหลวงพ่อองค์ตื้อ

หลวงปู่ใหญ่ วัดศรีสะอาด ตำบลโคกคอน อำเภอท่าบ่อ
หลวงปู่ใหญ่มีญาติโยมและเจ้าอาวาสผู้ก่อสร้างวัดศรีสะอาด ประมาณ พ.ศ.๒๔๓๐ ได้สร้างขึ้นด้วยอิฐฉาบปูนไว้ในพระอุโบสถ เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองเป็นพระประธานในพระอุโบสถ เพื่อให้ญาติโยมและพระภิกษุ สามเณร ได้สักการะบูชามาตลอดทุกวันนี้ คำว่าหลวงปู่ใหญ่ได้รับคำกล่าวขานจากผู้เฒ่าผู้แก่ ในหมู่บ้านเล่าขานกันมาว่าหลวงปู่ใหญ่เป็นชื่อเจ้าอาวาสที่ญาติโยมให้ความเคารพนับถือ ได้ชักชวนญาติโยมบ้านโคกคอนและหมู่บ้านใกล้เคียงสร้างพระประธานไว้ในพระอุโบสถ ได้ตั้งชื่อพระประธานที่ได้ร่วมกันสร้างขึ้นมาให้ชื่อว่า หลวงปู่ใหญ่ เวลาล่วงเลยมาประมาณ ๙๓ ปี พ.ศ.๒๕๒๓

หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ วัดศรีชมพูองค์ตื้อ

พระพุทธรูปองค์นี้ได้ก่อสร้างมาแต่ดึกดำบรรพ์มีพระรูปงดงามน่าเลื่อมใส สร้างในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชครองเมืองเวียงจันทร์ พระเจ้าองค์ตื้อเป็นพระพุทธรูป ขนาดใหญ่หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ฝีมือช่างฝ่ายเหนือและล้านช้าง ผสมกันนับเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามมาก เป็นพระประธานซึ่งสร้างด้วยทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ที่สุดอยู่ที่วัดศรีชมภูองค์ตื้อ ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย

ขอบคุณข้อมูลจาก amphoethabo.com