กระเทียม พืชสมุนไพรไทย สารพัดประโยชน์

265
fresh raw garlic ready to cook

กระเทียม เป็นพืชสมุนไพรไทยและเป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่ง โดยมักใส่ในอาหารหลายชนิด ทั้งอาหารไทย อาหารอินเดีย กระเทียมมีชื่อสามัญท้องถิ่นอื่นอีกคือ กระเทียมขาว (อุดรธานี) กระเทียมจีน (กทม.,กลาง) ปะเซ้วา (กะเหรี่ยง,แม่ฮ่องสอน) หอมขาว (อุดรธานี) หอมเทียม (เหนือ) หัวเทียม (ใต้)

กระเทียมเป็นไม้ล้มลุกและใหญ่ยาว สูง 30 – 60 ซม. มีกลิ่นแรง มีหัวใต้ดิน ลักษณะกลมแป้น มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 – 4 ซม. มีแผ่นเยื่อสีขาวหรือสีม่วงอมชมพูหุ้มอยู่ 3 – 4 ชั้น ซึ่งลอกออกได้ แต่ละหัวมี 6 – 10 กลีบ กลีบเกิดจากตาซอกใบของใบอ่อน ลำต้นลดรูปลงไปมาก ใบเดี่ยว (Simple leaf) ขึ้นมาจากดิน เรียงซ้อนสลับ แบนเป็นแถบแคบ กว้าง 0.5 – 2.5 ซม. ยาว 30 – 60 ซม. ปลายแหลมแบบ Acute ขอบเรียบและพับทบเป็นสันตลอดความยาวของใบ โคนแผ่เป็นแผ่นและเชื่อมติดกันเป็นวงหุ้มรอบใบที่อ่อนกว่าและก้านช่อดอกทำให้เกิดเป็นลำต้นเทียม ปลายใบสีเขียวและสีจะค่อย ๆ จางลงจนกระทั่งถึงโคนใบ ส่วนที่หุ้มหัวอยู่มีสีขาวหรือขาวอมเขียว ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม (Umbel) ประกอบด้วยตะเกียงรูปไข่เล็ก ๆ จำนวนมากอยู่ปะปนกับดอกขนาดเล็กซึ่งมีจำนวนน้อย มีใบประดับใหญ่ 1 ใบ ยาว 7.5 – 10 ซม. ลักษณะบาง ใส แห้ง เป็นจะงอยแหลมหุ้มช่อดอกขณะที่ยังตูมอยู่ แต่เมื่อช่อดอกบานใบประดับจะเปิดอ้าออกและห้อยลงรองรับช่อดอกไว้ ก้านช่อดอกเป็นก้านโดด เรียบ รูปทรงกระบอกตัน ยาว 40 – 60 ซม. ดอกสมบูรณ์เพศ กลีบรวม 6 กลีบ แยกจากกันหรือติดกันที่โคน รูปใบหอกปลายแหลม ยาวประมาณ 4 มม. สีขาวหรือขาวอมชมพู เกสรเพศผู้ 6 อัน ติดที่โคนกลีบรวม อับเรณูและก้านเกสรเพศเมียยื่นขึ้นมาสูงกว่าส่วนอื่น ๆ ของดอก รังไข่ 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1 – 2 เม็ด ผลเล็กเป็นกระเปาะสั้น ๆ รูปไข่หรือค่อนข้างกลม มี 3 พู เมล็ดมีขนาดเล็ก สีดำ

ในประเทศไทยปลูกมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ แต่กระเทียมที่มีชื่อเสียงว่าเป็นกระเทียมคุณภาพดี กลิ่นฉุน ได้แก่กระเทียมจากจังหวัดศรีสะเกษ

ประโยชน์ของกระเทียม
อยู่ในสารอัลลิซิน (Allicin) ซึ่งเป็นสารที่ให้กลิ่นฉุนอันเป็นเอกลักษณ์ที่เราคุ้นเคยกันดี ซึ่งสารตัวนี้จะออกฤทธิ์ให้สรรพคุณทางยาที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เมื่อเราหั่น ฝาน หรือทุบกระเทียม เพื่อนำไปทำอาหาร ก็ไม่ได้ทำให้สารอัลลิซินสลายไป คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำให้กินกระเทียมวันละ 7-12 กลีบ หรือไม่เกินวันละ 1 หัวขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นการกินกระเทียมสด หรือกินผ่านการปรุงอาหาร ก็ได้รับประโยชน์และส่งผลดีต่อสุขภาพเช่นเดียวกัน

10 ประโยชน์ของกระเทียม
ในกระเทียมมีสารอัลลิซิน (Allicin) ซึ่งเป็นสารที่ให้กลิ่นฉุนอันเป็นเอกลักษณ์ที่เราคุ้นเคยกันดี ซึ่งสารตัวนี้จะออกฤทธิ์ให้สรรพคุณทางยาที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนี้

  1. รักษาโรคหวัด
    ในกระเทียมมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย แต่หากเป็นหวัดก็สามารถฝานกระเทียมไปแช่น้ำร้อน แล้วกรองน้ำออกมาดื่ม ชากระเทียมอุ่นๆ จะทำให้หวัดหายเร็วขึ้น
  2. ลดระดับไขมันในเลือด
    การกินกระเทียมเป็นประจำจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และระดับไขมันในเลือด ซึ่งมีผลช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ
  3. ลดความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง
    สถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NCI) เผยผลวิจัยที่ระบุว่า กระเทียมอาจมีคุณสมบัติต้านโรคมะเร็ง เนื่องจากสารในกระเทียมออกฤทธิ์ลดความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอก
  4. แก้โรคผิวหนังอักเสบ
    หากผิวหนังอักเสบจากอาการแพ้จนเป็นผื่นแดง หรือมีอาการคันจากโรคสะเก็ดเงิน ให้ทาน้ำมันกระเทียมบริเวณผิวหนัง จะช่วยลดอาการอักเสบ และรักษาอาการคันให้หายได้
  5. แก้ปัญหาผมร่วง
    สารอัลลิซินและสารซัลเฟอร์ที่อยู่ในกระเทียม สามารถช่วยลดปัญหาผมขาดหลุดร่วงได้ เพียงฝานกระเทียมบางๆ ผสมน้ำมันออยล์ แล้วนำไปนวดบำรุงศีรษะ หนังศีรษะก็จะแข็งแรงขึ้น
  6. บรรเทาอาการปวดข้อ
    ประโยชน์ของกระเทียมคือ ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น จึงสามารถช่วยลดอาการปวดตามข้อของร่างกาย บรรเทาอาการเจ็บจากข้อเท้าพลิก รวมถึงอาการเคล็ดขัดยอกต่างๆ
  7. ป้องกันแมลงกัดต่อย
    คนไทยโบราณนิยมใช้กระเทียมเป็นยากันยุง รวมถึงการหั่นกระเทียมแล้วนำไปผสมกับขี้ผึ้ง ทาตามแขนขาเมื่อต้องเดินทางในป่า กลิ่นของกระเทียมจะทำให้ไม่มีแมลงมารบกวน
  8. ถอนเสี้ยนหนาม
    วิธีธรรมชาติที่คนไทยโบราณนิยมใช้กำจัดเสี้ยนหนาม และเสี้ยนไม้ที่ตำมือหรือตำเท้า ให้ฝานกระเทียมแผ่นบางๆ วางลงบนเสี้ยน แล้วใช้ผ้าพันแผลกดทับลงไป ไม่นานเสี้ยนก็จะหลุดออกเอง
  9. รักษาสิว
    นอกจากมีฤทธิ์ป้องกันเชื้อราแล้ว กระเทียมยังสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้อีกด้วย เคล็ดลับภูมิปัญญาไทยจึงใช้กระเทียมในการรักษาสิว ด้วยการฝานกระเทียมสด แปะลงบริเวณที่มีสิว
  10. กำจัดกลิ่นเท้า
    ใครที่มีกลิ่นเท้าไม่พึงประสงค์ ให้นำกระเทียมไปบด แล้วแช่ในน้ำอุ่น หลังจากนั้นให้แช่เท้าเพื่อกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเชื้อราที่เท้า น้ำกัดเท้า หรือเท้าอับชื้น

กระเทียมมีประโยชน์และสรรพคุณทางยาก็จริง แต่ทุกอย่างก็ต้องตั้งอยู่บนความสมดุล หากกินกระเทียมมากเกินไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน เพราะจะส่งผลให้เกิดภาวะเลือดแข็งตัวช้า เนื่องจากสารในกระเทียมจะยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ซึ่งหากเกิดบาดแผลจะทำให้เลือดไหลไม่หยุด