การดูแลรักษาผ้าไทยหรือชุดไทย

756

การดูแลรักษาผ้าไทย หรือชุดผ้าไทย ผู้ที่สนใจชุดผ้าไทยแต่ไม่นิยมใช้ส่วนใหญ่มักจะกลัวความยุ่งยากในการดูแลรักษา ทำความสะอาด หรือคิดว่าเสียค่าใช้จ่ายสูงในการซักแห้ง แต่ในความเป็นจริง ผู้ใช้ผ้าไทยสามารถดูแลรักษาผ้าไทย และชุดผ้าไทยได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงๆ เพียงแต่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและระมัดระวัง ในการดูแลรักษาทำความสะอาด ก็จะถนอมผ้าไทยให้คงความสวยงามและใช้ได้ยาวนาน อีกทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆด้วยการดูแลรักษาผ้าไทย

ผู้ที่ใช้ผ้าไทยส่วนใหญ่นิยมใช้ในโอกาสพิเศษ อาทิ งานแต่งงาน งานบุญประเพณี และงานจัดเลี้ยงต่างๆ เมื่อใช้แล้วใช้ซ้ำได้อีกครั้ง สองครั้ง ก่อนจะนำไปซัก เนื่องจากผ้าไทยส่วนใหญ่ทอจากเส้นใยธรรมชาติ โดยเฉพาะผ้าไหม มีคุณลักษณะพิเศษคือไม่อมฝุ่น

เมื่อสวมชุดผ้าไทยก็ควรระมัดระวังในการเลือกที่นั่งที่เป็นเก้าอี้พื้นเรียบ และสะอาด อย่าให้น้ำและอาหารหกเปื้อนเสื้อผ้า หลังจากสวมใส่ควรแขวนชุดผ้าไทย ผึ่งไว้ในที่อากาศถ่ายเทสะดวกเพื่อไล่ความชื้นและให้เนื้อผ้าหมดกลิ่นตัว แล้วปัดเช็ดฝุ่น ทำความสะอาด โดยไม่จำเป็นต้องซักทำความสะอาดในครั้งแรก

ข้อควรปฏิบัติในการสวมใส่ผ้าไทยอีกประการหนึ่ง คือ หากชอบใส่น้ำหอม ก็ควรฉีด หรือใส่น้ำอมก่อนแล้วจึงจะสวมใส่ชุดผ้าไทย ไม่ควรฉีดน้ำหอมบนเนื้อผ้าเพราะอาจทำให้เนื้อผ้าด่างเป็นจุดเสียหาย เนื่องจากสารเคมีในน้ำหอมจะทำปฏิกิริยากับสีผ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเนื้อผ้าไหม

การใช้ผ้าไทย หรือชุดผ้าไทยเป็นชุดทำงานในเวลากลางวันนั้น หากต้องไปงานเลี้ยงต่อในช่วงกลางคืน ก็สามารถใส่ชุดผ้าไทยที่ใส่กลางวันไปงานกลางคืนต่อได้เพียงแค่เปลี่ยนเครื่องประดับให้เหมาะสม ก็จะช่วยประหยัดชุดที่ต้องใส่ได้อีกทางหนึ่ง

การซักทำความสะอาดผ้าไทย หรือชุดผ้าไทย

วิธีการซักทำความสะอาดผ้าไทยหรือชุดผ้าไทย กรณีที่ไม่ต้องการส่งผ้าไทย หรือชุดผ้าไทยไปซักทำความสะอาดที่ร้านซักแห้ง ก็ดูแลซักทำความสะอาดเองได้โดยเริ่มจากเลือกน้ำยาซักผ้า ไม่ควรใช้ผงซักฟอกที่มีสารเคมีประเภทกัดสีผ้า หรือน้ำยาซักผ้าขาว ควรจะใช้น้ำยาซักแห้ง หรือยาสระผมชนิดอ่อนของเด็กแทนก็ได้

การเตรียมน้ำซักผ้า ควรจะผสมน้ำยาซักแห้ง หรือยาสระผม ลงในน้ำประมาณ 1-2 ฝาขวดต่อน้ำกะละมังใหญ่ ตีฟองให้เข้ากันก่อนแล้วจึงนำผ้าลงไปแช่ โดยไม่ควรใช้กะละมัง หรือถังขนาดเล็กเกินไป เพราะจะทำให้ผ้ายับยู่ยี่ และอัดทับซ้อนกันจนมองเห็นจุดสกปรกได้ยาก ควรใช้กะละมังขนาดใหญ่ ให้ปริมาณน้ำสูงท่วมผ้า และควรแช่ผ้าทิ้งไว้ประมาณ 30 นาทีขึ้นไป เพื่อให้สิ่งสกปรกหลุดออกไป

หากเกรงว่าผ้าไทยจะตกสี ควรแช่ผ้าในน้ำเปล่าเพื่อตรวจสอบดูก่อน ส่วนใหญ่ผ้าไทยอาจสีตกบ้างเล็กน้อย แต่สีจะไม่ซึมเลอะเข้าหากัน แต่จะละลายออกไปกับน้ำเท่านั้น

ก่อนแช่ผ้าต้องคัดแยกผ้าออกเป็นกลุ่มสีอ่อนและสีเข้ม เพื่อแช่และซักแยกกัน หากผ้าที่จะซักมีไม่มากนักก็ควรนำผ้าสีอ่อนลงซักก่อน แล้วจึงนำผ้าสีเข้มลงซักต่อทีหลังในกะละมังเดียวกันได้

ส่วนวิธีการซักทำความสะอาดผ้าไทยไม่ควรใช้แปรงซักผ้าเพราะจะทำให้เนื้อผ้าเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าไทยที่ทอโดยใช้เส้นพุ่งพิเศษ หรือเส้นยืนพิเศษเสริมเข้าไปในผืนผ้า เช่น ผ้าขิด ผ้าจก ผ้าแพรวา ผ้ายก และผ้ายกมุกเป็นต้น หากจำเป็นต้องใช้แปรงซักผ้าก็ควรใช้แปรงชนิดขนอ่อน ถูแปรงตามแนวเส้นพุ่งเท่านั้น ไม่ควรถูย้อนกลับไปมา เพราะจะทำให้เนื้อผ้าแยกเสียหายได้

วิธีที่ดีควรจับเนื้อผ้าขยำพอหลวมๆ แล้วขยี้เบาๆ สิ่งสกปรกก็จะหลุดออกจากเนื้อผ้าเพราะได้แช่ผ้าไว้ก่อนแล้ว เมื่อซักจึงไม่จำเป็นต้องขยี้ผ้ามากนัก ต่อจากนั้นจึงล้างทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่า 2-3 น้ำ หากต้องการจะใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มให้ผสมลงในน้ำล้างสุดท้าย

การนำผ้าขึ้นจากกะละมังทุกๆครั้ง ถ้าเป็นเสื้อ หรือเสื้อสูท ควรจับบริเวณช่วงไหล่ แล้วยกขึ้นบีบน้ำออกจากตัวเสื้อ โดยไล่จากช่วงไหล่ลงไปหาปลายเสื้อ กระโปรงหรือกางเกงก็เช่นเดียวกัน ให้จับช่วงเอวแล้วจึงไล่ไปหาชายกระโปรงหรือกางเกง

หลังจากบีบไล่น้ำออกแล้วเมื่อจะนำผ้าไปผึ่ง ให้สะบัดเพียงเบาๆ เพื่อให้เนื้อผ้าสะเด็ดน้ำ หากเป็นเสื้อควรใส่ไม้แขวน ไม่ควรนำผ้าไทย หรือชุดผ้าไทยไปผึ่งแดดโดยตรงเพราะจะทำให้สีของผ้าไทยและชุดผ้าไทยซีดจางได้

เมื่อผ้าแห้งพอหมาดๆ ให้นำมารีด หากผ้าแห้งเกินไปให้พรมน้ำให้ทั่วแล้วจึงรีด สำหรับท่านที่ต้องการใช้น้ำยารีดผ้าเรียบ ควรจะผสมน้ำยารีดผ้าเรียบกับน้ำสะอาดให้เจือจางก่อนจึงนำมาใช้ เพราะหากใช้น้ำยารีดผ้าเรียบล้วนๆ ความเข้มข้นของน้ำยาจะทำให้เนื้อผ้าด่างได้เช่นเดียวกัน

การรีดผ้าไทย หรือชุดผ้าไทย ควรจะใช้ไฟค่อนข้างแรง ควรรีดด้านในผ้า โดยใช้ผ้าขาวเนื้อละเอียดวางทับบนเนื้อผ้าแล้วรีดทับบนผ้าขาว โดยเฉพาะช่วงตะเข็บจะช่วยให้ไม่เกิดเป็นรอยเงารูปตะเข็บ ใช้เตารีดถูไปด้านเดียว ไม่ควรถูกลับไปกลับมา รีดจนทั่วให้ผ้าเรียบสม่ำเสมอ แล้วจึงนำไปแขวน

การเก็บรักษาผ้าไทยและชุดผ้าไทย

การแขวนชุดเสื้อผ้าควรใช้ไม้แขวนที่มีช่วงไหล่หนาแบบไม้แขวนเสื้อสูท สำหรับเสื้อแขนยาวควรทำม้วนกระดาษใส่เป็นโครงแขนเสื้อด้านในเอาไว้ เพื่อรักษารูปทรงแขนและไม่ควรแขวนเสื้อจนแน่นตู้ เพราะเสื้อจะยับได้

สำหรับผ้าผืนควรแขวนบนราวกลมขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร หากมีเนื้อที่จัดเก็บจำกัดก็อาจพับเก็บซ้อนกันได้ แต่ควรกลับด้านผ้าที่พับไว้เป็นระยะๆ

ตู้เสื้อผ้าที่ใช้จัดเก็บผ้าไทย และชุดผ้าไทยควรเป็นตู้ทึบแสง ไม่ควรเป็นตู้กระจกใส เพราะแสงจะทำให้สีผ้าเสียหาย โดยควรตั้งไว้ในที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก และควรใส่การบูรไว้ในตู้เสื้อผ้าหรือลังเก็บผ้าเพื่อป้องกันแมลง

การนำผ้าไหมไปจัดแสดงในตู้ที่มีไฟส่อง ควรจัดวางถ้วยน้ำไว้ในตู้เพื่อเพิ่มความชื้นในอากาศ ช่วยป้องกันไม่ให้เส้นไหมแห้งกรอบ

ด้วยความเข้าใจพื้นฐานเหล่านี้ ท่านก็สามารถดูแลรักษาผ้าไทย และชุดผ้าไทยให้ดูสวยงาม และใช้ได้ทนทาน อีกทั้งประหยัดค่าใช้จ่าย