การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี

584

การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี นอกจากช่วยรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในภาคอีสานตอนบน รับประชาคมอาเซียน ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 ยังสามารถเพิ่มรายได้เข้ารัฐ จากเม็ดเงินภาษีที่จะเก็บได้จากสินค้า ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี พื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี มีขนาด 2,219 ไร่ อยู่ในท้องที่ตำบลโนนสูงและหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ถือเป็นพื้นที่ ที่เอื้อต่อการประกอบอุตสาหกรรม เพราะอยู่ห่างสนามบินอุดรธานี เพียง 20 กิโลเมตรและยังอยู่ใกล้สถานีรถไฟหนองตะไก้ ประมาณ 3 กิโลเมตร ในอนาคต จะมีการพัฒนาเชื่อมระบบรางเข้ามาในนิคมฯ รวมทั้งเชื่อมต่อเส้นทางการค้าไปยัง สปป.ลาว และมณฑลยูนนานของจีน อีกด้วย
ขณะนี้ นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี อยู่ระหว่างการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ซึ่งคาดว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะอนุมัติได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ จากนั้นบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานีฯ ในฐานะผู้ร่วมลงทุน จะเข้ามาพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ในไตรมาส 2 ปี 2558
14984626531498462685lเป้าหมายของการพัฒนานิคมฯ อุดรธานี เพื่อรองรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ , ชิ้นส่วนยานยนต์ , ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากยางพารา เพราะบริเวณนี้เป็นแหล่งปลูกยางพารา อุดรธานี จึงกลายเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอุตสาหกรรมของภาคอีสานตอนบน และรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ หากพัฒนาสำเร็จ จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนประมาณ 2 หมื่น 2 พันล้านบาท หรือเกิดการลงทุนเฉลี่ยไร่ละ 10 ล้านบาท และเมื่อนิคมฯ แห่งนี้ เริ่มเดินสายการผลิตสินค้า จะมีรายได้จากภาษีเข้ารัฐ 15,000 – 20,000 ล้านบาทต่อปี
แผนการพัฒนานิคมฯ แบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรก พื้นที่ 970 ไร่ เริ่มพัฒนาปี 2558- 2560 ระยะที่ 2 พื้นที่ 1,249 ไร่ พัฒนาปี 2561-2563 แต่เมื่อได้รับอีไอเอ แล้ว จะเริ่มพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดพร้อมกันตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2558 เป็นต้นไป และในสิ้นปี(58)น่าจะขายพื้นที่ได้ทั้งหมด เพราะมีความต้องการพื้นที่อุตสาหกรรมอยู่มาก อันเนื่องมาจากการเปิดเออีซี โดยมีกลุ่มธุรกิจจากจีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ให้ความสนใจ
การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นอีกก้าวสำคัญของไทยในการเตรียมตัวเข้าสู่เออีซี ในฐานะศูนย์กระจายสินค้าสำคัญของอาเซียน พร้อมเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ ทั้งไทย , ลาว และจีน เข้าด้วยกัน อีกทั้งยังช่วยสร้างงานในจังหวัด ซึ่งถือเป็นการกระจายงานออกสู่ท้องถิ่นอีกทางหนึ่ง
แหล่งที่มา : udonechamber.com