ข้าวเหนียวมะม่วง

586

อ้างอิงจากบันทึกประวัติศาสตร์และพงศาวดารไทยนั้น ไม่มีบันทึกชี้ชัดว่าข้าวเหนียวมะม่วงถือกำเนิดมาตั้งแต่ยุคสมัยใด แต่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเป็น “กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน” ปรากฏในรัชกาลที่ 2 ของกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อเนื่องมาในรัชกาลที่ 5 จึงได้เริ่มมีการเอ่ยถึงเมนูมะม่วงกินคู่กับข้าวเหนียวมูน (ซึ่งก็ไม่มีหลักฐานยืนยันการปรากฏตัวของข้าวเหนียวมะม่วงอย่างเป็นทางการ) โดยมะม่วงที่เป็นสูตรดั้งเดิมในสมัยก่อนจะนิยมใช้พันธุ์อกร่องที่มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว และข้าวเหนียวจะเลือกใช้พันธุ์เขี้ยวงู ที่ตัวเมล็ดมีลักษณะเรียวยาว นำมาคลุกเคล้ากับน้ำกะทิ ราดด้วยน้ำกะทิปรุงรสเข้มข้น ใส่เกลือและน้ำตาลทรายขาวเพิ่มเติม โรยหน้าด้วยถั่วทองทอดหรือถั่วเขียวซีกทอดเพิ่มความกรุบกรอบ จากนั้นเมนู ข้าวเหนียวมะม่วง ก็กลายมาเป็นของหวานที่คนไทยนิยมกินเพื่อความสดชื่นคลายร้อนมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยรสชาติหอม หวาน และมัน ผสมกันอย่างลงตัว ถูกปากทั้งคนไทยและชาวต่างชาตินั่นเอง ปัจจุบัน มะม่วงสายพันธุ์อกร่อง ให้ผลเล็ก หาซื้อยาก ทำให้มีราคาสูง นักกินทั้งหลายจึงหันมาใช้พันธุ์น้ำดอกไม้ ที่ผลใหญ่ เนื้อเยอะ หวาน หอม และที่สำคัญราคาไม่สูงมากนักแทน

ข้าวเหนียวมะม่วง มีส่วนประกอบเป็นข้าวเหนียวที่ให้พลังงานสูง สามารถกินเป็นมื้อหลักแทนข้าวได้เลย และมะม่วงสุก เป็นผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง ช่วยในเรื่องของระบบขับถ่าย อีกทั้งอุดมไปด้วยวิตามินหลายชนิด เช่น วิตามินเอ และวิตามินอี ที่บำรุงร่างกาย แก้ไอ และช่วยขับลมได้ นอกจากนี้ยังช่วยในการบำรุงผิวพรรณและมีสารต้านอนุมูลอิสระด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ขนมหวานชนิดนี้มีแคลอรีสูง คนที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน โรคกระเพาะ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ควรกินในปริมาณที่น้อยกว่าคนปกติ เพราะถ้ากินมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นท้อง และอาหารย่อยยากมากขึ้นได้