ชาวบุรีรัมย์นำ “หญ้าคา” ไร้ค่าสานเป็นวัสดุมุงหลังคาขายปลีก-ส่ง

935

ชาวบ้านเสลา ม.7 ต.ชุมแสง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เกือบทั้งหมู่บ้านกว่า 50 หลังคาเรือน ได้สืบทอดภูมิปัญญาจากปู่ย่าตายาย โดยการใช้เคียวเกี่ยวข้าวออกหาเกี่ยวหญ้าคาตามป่า หัวไร่ปลายนา ที่หลายคนมองว่าเป็นวัชพืชไร้ค่าและพยายามกำจัดทิ้ง มาสานหรือไพเป็นตับใช้สำหรับมุงหลังคาขายทั้งปลีกและส่ง เพื่อสร้างรายได้เสริมในช่วงว่างเว้นจากการทำนา

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้หลักๆ คือหญ้าคา ซึ่งชาวบ้านจะใช้เคียวเกี่ยวข้าวไปเกี่ยวตามป่า หรือหัวไร่ปลายนา แต่จะไม่ใช้เครื่องตัดหญ้าในการตัดเพราะจะทำให้บริเวณโคนแตก จากนั้นนำหญ้าคามาตากแดดไว้ 3-4 แดดจนแห้งสนิท ก่อนนำไปสางให้ดอกหญ้าหรือเศษต่างๆ ที่ติดมากับหญ้าคา แล้วนำไปมัดเป็นกำเก็บไว้

สำหรับไม้ที่ใช้ในการสานหรือไพหญ้าคาให้เป็นตับใช้เพียงเศษไม้ยูคาฯ ขนาดความยาว 150 เซนติเมตร ที่หาได้จากท้องถิ่น แล้วใช้เชือกฟางมัดหญ้าคาที่สานหรือไพให้แน่น แต่ละวันจะทำได้ 20-25 ตับ ขายปลีกราคาตับละ 15 บาท ขายส่งราคาตับละ 14 บาท

ลูกค้าที่มาซื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่นิยมนำไปมุงเป็นหลังคาหรือซุ้มร้านอาหาร ทำโรงเรือนเพาะเห็ด บางช่วงมีออเดอร์สั่งถึง 1,500 ตับ ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมจากการไพหญ้าคาขายทั้งปลีกและส่ง ช่วงว่างเว้นจากการทำนา 3-4 เดือนเฉลี่ยครัวเรือนละ 2-3 หมื่นบาท

จากที่ผ่านมาหลังฤดูเก็บเกี่ยวชาวบ้านพากันอพยพไปหาทำงานรับจ้างต่างจังหวัด แต่หลังจากหันมายึดการไพหญ้าคาเป็นอาชีพเสริมไม่ต้องอพยพไปขายแรงงานต่างถิ่นอีก