ตำนานพญานาค ความศรัทธา ลุ่มน้ำโขง หนองคาย

1737

ความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคปรากฏอยู่มากมาย และในประเทศไทยนั้น สถานที่ที่มีตำนานและความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคผูกพันอย่างแน่นหนาที่สุด
คงต้องยกให้ จังหวัดหนองคาย และ จังหวัดบึงกาฬ ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นดัง “นาคานคร”

จังหวัดหนองคายและบึงกาฬตั้งอยู่ทางภาคอีสานตอนบน สำหรับบึงกาฬนั้นเป็นจังหวัดใหม่ ที่เพิ่งแยกตัวออกมาจากจังหวัดหนองคาย ทั้งสองจังหวัดมีชายแดนติดกับประเทศลาว เพียงแค่แม่น้ำโขงกั้น ว่ากันว่าแม่น้ำโขง เป็นที่อยู่อาศัยของพญานาคราช ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวหนองคายและชาวลาว

ด้วยระยะทางยาวไกลกว่า 210 กิโลเมตร ที่แม่น้ำโขงทอดตัวไหลผ่านจังหวัดหนองคาย ตำนานและเรื่องราวพญานาค ของชาวหนองคายนั้นยิ่งใหญ่ กล่าวขานกันมาเนิ่นนาน ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์แห่งลำน้ำโขง

ชาวอีสานในแถบลุ่มแม่น้ำโขงต่างมีความเชื่อว่าแม่น้ำโขงและแม่น้ำน่านเกิดขึ้นจากการเคลื่อนตัวของพญานาค รวมถึงเชื่อในตำนานอัศจรรย์แห่งบั้งไฟพญานาคในวันออกพรรษาทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งถือว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ เหล่าพญานาคในแม่น้ำโขงต่างชื่นชมโสมนัส พร้อมใจกันจุดบั้งไฟถวายการเสด็จกลับของพระพุทธองค์ “บั้งไฟพญานาค” จึงเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอันอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในเขตจังหวัดหนองคายและจังหวัดบึงกาฬในทุกๆ ปี

ด้วยความเชื่อที่ว่าบริเวณนี้เป็นนครแห่งพญานาค จึงปรากฏตำนานและเรื่องราวเล่าขานรวมไปถึงสถาปัตยกรรม โบราณสถาน วัดวาอารามที่เกี่ยวพันกับพญานาคอยู่มากมายโดยชาวจังหวัดหนองคายเชื่อว่า มีเมืองบาดาลของพญานาค ตั้งอยู่ในเขตอำเภอโพนพิสัย

โดยตั้งอยู่ใต้แม่น้ำโขงที่ลึกลงไป 1 โยชน์ หรือ 16 กิโลเมตร มีปราสาทราชวังที่วิจิตรงดงาม อยู่ถึง 7 ชั้น เรียงซ้อนกันอยู่ ด้วยเหตุของความเชื่อดังกล่าวนี้เองในวันออกพรรษาแต่ละปี จังหวัดหนองคาย โดยเฉพาะที่อำเภอโพนพิสัย จะเนืองแน่นไปด้วยผู้คนจากทั่วสารทิศ ที่แห่แหนกันไปชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคกันอย่างล้นหลาม แม้ว่าหลายอย่างจะเป็นเพียงความเชื่อที่สืบทอดกันมา