ถ้ำนาคา บึงกาฬ

715

“ถ้ำนาคา” เป็นถ้ำที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ อุทยานแห่งชาติภูลังกา อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ รอยต่อระหว่างจังหวัดบึงกาฬ – นครพนม จุดเด่นของถ้ำนาคา คือ ภายในถ้ำจะพบกับหิน ที่มีรูปร่างคล้ายกับงูยักษ์หรือลำตัวของพญานาค มีลักษณะเหมือนเกล็ดของงูขนาดใหญ่ ซึ่งในทางธรณีวิทยา เกิดจากหินบนพื้นผิวโลกผ่านการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิร้อน – เย็นสลับกัน กระบวนการทางกายภาพเกิดการผุพัง ปริแตกตามพื้นผิวโดยรอบหิน เรียกว่า ซันแครก (sun crack) ซึ่งตามคติชาวบ้านหรือความเชื่อในท้องถิ่นบางส่วนเชื่อว่าพญานาคที่ชาวบ้านเรียกว่า ปู่อือลือ ถูกสาปให้ร่างกลายเป็นหินติดอยู่ในถ้ำแห่งนี้ เหตุที่ถ้ำแห่งนี้ได้ชื่อว่า “ถ้ำนาคา” หรือ “ถ้ำพญานาค” เนื่องจากมีของหินและผนังถ้ำดูคล้ายพญานาค ที่มีรูปทรงคล้ายพญานาคหรืองูขนาดใหญ่นอนขดตัว โดยมีส่วนสำคัญ ๆ ทั้งส่วนหัว ลำตัว และเกล็ดพญานาค (ตามจินตนาการและความเชื่อของชาวบ้าน) โดย “อือลือราชา”หรือ “ปู่อือลือ” เทพบนสรวงสวรรค์ ที่ถูกสาปให้เป็นพญานาคปกครองเมืองบาดาล (เชื่อกันว่าคือบึงโขงหลง จ.บึงกาฬ) ที่มีทั้งพญานาคและมนุษย์อาศัยอยู่ร่วมกัน ได้สาปบริวารพญานาคของตนให้กลายเป็นหินที่ถ้ำแห่งนี้เนื่องจากทำผิดจารีต เพราะไปมีสัมพันธ์สวาทกับมนุษย์ ซึ่งก็คือถ้ำนาคา หรือ ถ้ำพญานาค ที่ อช.ภูลังกา แห่งนี้

ตามตำนานปู่อือลือที่ข้องเกี่ยวกับบึงโขงหลงนั้น เชื่อว่า เกิดจากการล่มเมืองของพญานาค ซึ่งเกิดจากความรักที่ไม่สมหวังระหว่างพญานาคกับมนุษย์ ทำให้เมืองที่เจริญรุ่งเรืองล่มสลาย บริเวณแห่งนี้เดิมเป็นที่ตั้งเมือง ชื่อ รัตพานคร มี พระอือลือราชา เป็นผู้ครองนคร มเหสีชื่อ นางแก้วกัลยา มีพระธิดาชื่อ พระนางเขียวคำ ต่อมาได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าสามพันตา มีพระโอรสชื่อ เจ้าชายฟ้ารุ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด มีความรอบรู้ และมีรูปงามด้วย ขณะประสูติมีท้องฟ้าสว่างไสว ต่อมาได้อภิเษกสมรสกับ นาครินทรานี ซึ่งเป็นพระธิดาของพญานาคราชแห่งเมืองบาดาล ที่แปลงกายเป็นมนุษย์ การอภิเษกสมรสจัดกันอย่างมโหฬาร ทั้งเมืองบาดาล และเมืองมนุษย์ (รัตพานคร) ทำอยู่ 7 วัน 7 คืน เพื่อเป็นการสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างพญานาคราช กับ พระเจ้าอือลือราชา ในโอกาสนี้ด้วย ทั้งสองอยู่กินกันมาเป็นเวลา 3 ปี ก็ไม่สามารถจะมีผู้สืบสายสกุลได้ (เพราะธาตุมนุษย์กับนาค) จึงทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจกับทั้งสอง ต่อมาเจ้าหญิงนาครินทรานี ล้มป่วยลง ทำให้ร่างกายของนางที่เป็นมนุษย์กลายเป็นนาคตามเดิม โดยข่าวนี้ได้แพร่สะพัดออกไปทั่วกรุงรัตพานคร และถึงแม้นางจะร่ายมนตร์กลับเป็นมนุษย์ ประชาชนและพระเจ้าอือลือก็ไม่พอใจ จึงได้ขับไล่นางนาครินทรานีกลับสู่เมืองบาดาลดังเดิม โดยได้แจ้งให้พญานาคราชมารับตัวกลับ ก่อนกลับพญานาคราช ได้ขอเครื่องกกุธภัณฑ์ของตระกูลคืน แต่พระเจ้าอือลือราชาไม่สามารถคืนให้ได้ เนื่องจากนำไปแปรสภาพเป็นอย่างอื่น ทำให้พญานาคราชกริ้วมาก และประกาศว่าจะทำลายเมืองรัตพานคร และจะเหลือเอาไว้เพียง 3 วัดเท่านั้น หลังจากพญานาคกลับไป ในตอนกลางคืน พญานาคราชได้ยกไพร่พลมาถล่มเมืองรัตพานคร และประชาชนก็ไม่มีใครรอดพ้นจากฤทธิ์นาคได้ พอนางนาครินทรานีทราบข่าว ก็ขึ้นมาตามหาเจ้าชายฟ้ารุ่ง จนถึงแม่น้ำสงครามก็ไม่พบ จึงกลับเมืองบาดาล เมืองรัตพานครได้ถล่มเป็น “บึงหลงของ” ต่อมานานเข้าคำพูดก็กลายเป็นโขงหลง และวัดที่เหลือ 3 วัด ก็คือ วัดดอนแก้ว (วัดแก้วฟ้า) วัดดอนโพธิ์ (วัดโพธิสัตว์) และ วัดดอนสวรรค์ (วัดแดนสวรรค์) ทางที่นางนาครินทรานีตามหาเจ้าชายฟ้ารุ่ง คือ ห้วยน้ำเมา (เมารัก) ส่วนพระอือลือราชา ไม่ได้สิ้นพระชนม์ไปกับเหตุการณ์นี้ด้วย แต่ถูกพระยานาคราชจับตัวไว้ พร้อมกับสาปให้พระอือลือราชากลายร่างเป็นนาค เฝ้าอยู่ในบึงโขงหลงชั่วนิรันดร์ จนกว่าจะมีเมืองเกิดใหม่ในดินแดนแห่งนี้ จึงจะล้างคำสาปของพระยานาคราชได้