พระปทุมเทวาภิบาล เจ้าเมืองหนองคายคนแรก

1876

กว่าจะมาเป็นเมืองหนองคาย ให้เราได้อยู่อาศัยกันทุกวันนี้ บรรพบุรุษของเราต้องร่วมมือสร้างเมืองกันมาเท่าไหร่ ทั้งหยาดเหงื่อเลือดเนื้อที่ลงไป มากมายนัก วันนี้เรามารู้จักกับพ่อเมืองคนแรกของหนองคายกันครับ

พระประทุมเทวาภิบาล เจ้าเมืองหนองคายคนแรก มีนามเดิมว่า ท้าวบุญมา เป็นบุตรของพระอุปฮาด(แพง) อุปฮาดเมืองยโสธร เป็นหลานพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช และเป็นหลานเจ้าพระวิไชยสุริยวงษขัติยราช (เจ้าฝ่ายหน้า) เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ พระองค์ที่ ๓ สืบเชื้อสายราชวงศ์เชียงรุ่ง จากเจ้าพระตาเมืองหนองบัวลุ่มภู

ท้าวบุญมา เป็นกรมการเมืองยโสธร มีตำแหน่งเป็นที่ ท้าวสุวอธรรมา ผู้ช่วยพระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยโสธร ซึ่งมีศักดิ์เป็นลูกผู้พี่ของท้าวสุวอธรรมา ภายหลังพระอุปฮาดแพงผู้เป็นบิดาถึงแก่อนิจกรรม ท้าวสุวอธรรมาได้ขึ้นเป็นพระอุปฮาดเมืองยโสธรแทนบิดา

พระยาวุฒาธิคุณ_nในปี พ.ศ. ๒๓๗๐ เจ้าอนุวงศ์ ได้ก่อกบฏ และได้ถูกกองทัพสยามปราบปรามจนต้องหนีไปพึ่งญวนโดยครั้งนั้นกองทัพสยามยังไม่ได้รื้อทำลายเมืองเวียงจันทน์ลง จึงเกรงกันว่าเจ้าอนุวงศ์จะนำทัพญวนกลับเข้ามาตั้งตัวได้อีกครั้ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) เกณฑ์ไพร่พลหัวเมืองอีสานกลับไปตีเมืองเวียงจันทน์อีกโดยครั้งนั้นพระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธร ให้พระอุปฮาดสุวอธรรมา และราชบุตรเคนบุตรชายของพระอุปฮาดสุวอ คุมกำลังเมืองยโสธรเข้าร่วมกองทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดีด้วย แต่เมื่อกองทัพสยามยกไปถึงเวียงจันทน์กองทัพสยามได้ถูกอุบายเจ้าอนุวงศ์ทำทีเป็นยกสวามิภักดิ์ แต่รุ่งขึ้นเจ้าราชวงศ์โอรสเจ้าอนุวงศ์ได้ยกพวกเข้าโจมตีทำร้ายกองข้าหลวงของพระพิชัยสงครามและทหารไทยล้มตายเป็นอันมาก เจ้าพระยาราชสุภาวดีซึ่งตั้งทัพอยู่เมืองพานพร้าวฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขงยังไม่ได้ข้ามไปเวียงจันทน์เห็นพวกเวียงจันทน์ตามมาไล่ฆ่าฟันถึงชายหาดหน้าเมือง ก็ทราบว่าเกิดเหตุร้ายและพิจารณาเห็นว่าทัพเวียงจันทน์และญวนมีมากกว่า จึงถอนกำลังลงไปยังเมืองยโสธร เจ้าอนุวงศ์ให้เจ้าราชวงศ์นำกำลังพลข้ามตามมาและปะทะกับทัพไทยที่บ้านบกหวานเกิดการต่อสู้กันถึงขั้นตะลุมบอน แม่ทัพทั้งสองฝ่ายได้รบกันตัวต่อตัวจนถึงขั้นบาดเจ็บ ผลปรากฏว่าฝ่ายเจ้าราชวงศ์ล่าถอยไป กองทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงได้เร่งติดตามกองทัพลาวไปจนถึงเมืองพันพร้าวก็ปรากฏว่ากองทัพลาวข้ามแม่น้ำโขงไปแล้วและเจ้าอนุวงศ์ก็เสด็จหนีไปยังเมืองพวน และการรบครั้งนั้นปรากฏว่าพระอุปฮาดสุวอเมืองยโสธร และราชบุตรเคนบุตรชายพระอุปฮาดมีความชอบมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านหนองค่ายอันเป็นที่ตั้งทัพนั้นขึ้นเป็น เมืองหนองคาย และตั้งพระอุปฮาด(ท้าวสุวอธรรมา)เมืองยโสธร เป็น “พระปทุมเทวาภิบาล” เจ้าเมืองหนองคาย ปกครองเมืองที่เคยขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์แทนเมื่องเวียงจันทน์ที่ถูกทำลาย โดยได้ตั้งราชบุตร (เคน) บุตรชายพระปทุมเทวาภิบาลเป็นอุปฮาดเมืองหนองคายด้วย

พระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา) เจ้าเมืองหนองคายครองเมืองหนองคายได้ ๒๕ ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันอาทิตย์ที่๒๐ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๓๙๕ ตรงกับวันขึ้น ๑๑ ค่ำเดือน ๕ เวลาประมาณ ๓ โมงเช้า ชาวเมืองได้พากันจัดงานบำเพ็ญกุศลให้เจ้าเมืองและเก็บศพไว้รอจัดงานและสร้างเมรุฌาปนกิจ โดยกรมการเมืองและชาวเมืองได้ทำการฌาปนกิจศพพระปทุมเทวาภิบาลเมื่อวันที่ ๑๖ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๙๖ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๔ ค่ำ เดือน ๓