“ลาบเทา” อาหารจากแหล่งน้ำธรรมชาติ

597

ที่หนองน้ำธรรมชาติ ด้านหลังโรงเรียนท่าตูมประชาเสริมวิทย์ ต.ท่าตูม อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ผู้สื่อข่าวได้พบกับชาวบ้านท่าตูม 3-4 คน พากันลงไปยังแหล่งน้ำดังกล่าวเพื่อหาเก็บ “เทา” มาทำอาหารเมนู “ลาบเทา” รับประทาน ซึ่งชาวบ้านบอกว่า “เทา” คือสาหร่ายน้ำจืดสีเขียว มีลักษณะเป็นเส้นเล็กยาวคล้ายผม สีเขียวสด มักอยู่ในหนองน้ำหรือแหล่งน้ำใสสะอาดและน้ำนิ่ง ในระดับน้ำไม่ลึก สามารถมองเห็นด้วยสายตาเกาะกลุ่มกันอยู่เป็นก้อนๆ

โดย “เทา” ที่ยังอ่อนจะลอยอยู่ใต้น้ำ เหมาะนำไปปรุงเป็นอาหารรับประทาน สำหรับเทาแก่หมดอายุแล้วจะลอยตัวขึ้นเหนือน้ำ ไม่สามารถนำมาปรุงอาหารได้ ชาวบ้านจะใช้มือเกี่ยวเก็บเอาเทาสีเขียวที่อยู่ใต้น้ำแล้วนำมาล้างเก็บเศษไม้ ใบหญ้า หรือสิ่งเจือปนในเทาออกให้หมดจนสะอาดเห็นเป็นเส้นเทาสีเขียวสด จากนั้นจึงนำมาประกอบปรุงเป็นอาหารมื้อพิเศษรับประทานในครอบครัว อีกทั้งชาวบ้านอีสานนิยม “ลาบเทา” กินร่วมกันในหมู่เครือญาติหรือเพื่อนบ้าน

สำหรับเมนู “ลาบเทา” เครื่องปรุงที่สำคัญต้องมี หัวหอม ผักชี ต้นหอม ใบหูเสือ น้ำปลาร้า มะเขือต้ม ปลาทู ข้าวคั่ว พริกป่น แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใส่มะนาว หรือสิ่งที่เป็นของเปรี้ยวทั้งสิ้น เพราะจะทำให้รสชาติไม่อร่อย และประการสำคัญ เทาสีเขียวต้องไม่ต้มหรือทำให้สุกแต่อย่างใด

ขั้นตอนการทำ “ลาบเทา” หลังจากได้ “เทา” ที่ล้างสะอาดแล้วมาเตรียมเครื่องปรุงลาบเทา คือ การต้มน้ำปลาร้าให้สุก พร้อมต้มมะเขือ ปลาทู พริก เมื่อต้มสุกแล้วตำพริก มะเขือ และปลาทู คลุกเข้าด้วยกัน ให้เป็นน้ำพริกสดมะเขือปลาทู จากนั้นนำน้ำพริกที่ได้มาคลุกกับน้ำปลาร้าสุก คลุกให้เข้ากัน หากมีหอยโข่ง หอยขม ต้มสุกแล้วให้หั่นเป็นชิ้นๆ นำไปคลุกกับน้ำพริกปลาทูมะเขือที่เตรียมไว้ ก่อนนำเทาสีเขียวสดลงไปคลุกหรือคนให้เข้ากัน จากนั้นใส่ใบหูเสือ ต้นหอม โรยด้วยข้าวคั่ว พริกป่น ปรุงรส ชาติให้ได้ตามต้องการ เสร็จแล้วได้ “ลาบเทา” สูตรบ้านนอกแท้แบบธรรมชาติ รับประทานกันในครอบครัวหรือวงเครือญาติที่แสนอร่อย และอบอุ่นตามวิถีคนชนบทที่อยู่อย่างมีความสุข รักสามัคคีกันแบบพอเพียง

ทั้งนี้ เทา เตา หรือไก เป็นสาหร่ายน้ำจืด พบมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก ในแหล่งน้ำนิ่ง สะอาด ใส รูปร่างเป็นสายเล็กๆ เส้นยาวคล้ายผม ไม่มีกิ่งก้าน รวมกันเป็นกลุ่มสีเขียว มักพบมากในช่วงหน้าฝน ชาวบ้านนิยมนำมารับประทานหรือขายโดยม้วนเป็นก้อนกลมๆ โดยส่วนมากนำมากินเป็นผักสด ผักลวกกับน้ำพริก หรือมาลาบ ยำ แกงส้ม มีแคลเซียมและเบตา-แคโรทีนสูง

ส่วนประโยชน์ของ “เทา” จากการศึกษาของกลุ่มนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พบว่าเทา 10 กรัมจะมีโปรตีนค่อนข้างสูงถึง 20% มีคาร์โบไฮเดรตประมาณ 31 % ให้เส้นใยสูงถึง 21% และยังมีวิตามินบีโดยเฉพาะ บี 2 ถึง 355 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม นอกจากนั้นมีกรดโฟลิก และกรดแพนโทธีนิก ซึ่งเป็นกลุ่มวิตามินที่สำคัญอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมอีกด้วย จึงนับว่าเป็นอาหารให้คุณค่าที่มาจากพื้นบ้านอย่างหนึ่ง