“ลาบแย้”! พิสูจน์เมนูแซบอีหลีคนอีสานกับวิถีชนบทชาวบ้าน

609

ตามรอย “ลาบแย้”! พิสูจน์เมนูแซบอีหลีคนอีสาน ตามวิถีชีวิตชนบทชาวบ้านหัวนา อ.สนม เมืองช้าง ใช้เวลาว่างจากทำนาพากันจับเสียมออกหาขุดจับตัว “แย้” ตามคันนา ริมถนน และบริเวณที่ดอน นำมาปรุงเป็นอาหารบริโภคในครอบครัว เผยเป็นเมนูเด็ดสืบทอดมาหลายชั่วอายุคนที่นับวันหาเปิบได้ยากและถึงเวลาต้องอนุรักษ์

วันนี้ (3 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านหัวนา ต.นานวล อ.สนม จ.สุรินทร์ อาศัยเวลาว่างเว้นจากการทำนา และรอน้ำฝนที่จะตกลงมาใส่นาข้าวเพื่อใส่ปุ๋ยบำรุงต้นข้าวให้งอกงาม ประกอบกับเป็นช่วงที่มีน้ำขังตามพื้นที่ทั่วไปรวมทั้งนาข้าว ทำให้ตัว “แย้” สัตว์เลื้อยคลานจำพวกกิ้งก่า ที่เคยอาศัยในแปลงนาอันแห้งแล้ง ต้องหลบขึ้นมาขุดรูอาศัยอยู่บนที่สูง ตามคันนา ริมถนน และบริเวณพื้นที่ดอนต่างๆ ชาวบ้านจึงชวนกันออกไปขุดและจับตัวแย้มาประกอบอาหารบริโภคในครอบครัวตามวิถีชีวิตของคนชนบทชาวอีสาน

ทั้งนี้ ชาวบ้านหัวนาได้นำเสียมออกหาขุดแย้ตามถนนและคันนาต่างๆ สามารถจับตัวแย้ ได้ครั้งละ 10-20 ตัว โดยเลือกจับเอาเพียงแค่พอนำมาประกอบอาหารได้เพื่อไม่ให้แย้สูญพันธุ์ ซึ่งแย้ที่ขุดและจับได้มีทั้งตัวผู้และตัวเมีย ซึ่งตัวผู้จะมีพังผืดด้านข้าง ส่วนตัวเมียไม่มี

ส่วนการประกอบอาหารนั้น หลังจากขุดจับตัวแย้มาได้แล้วจะนำมาย่างกับเตาถ่าน ผ่าท้องนำเครื่องในและของเสียออก พร้อมขอดเกล็ดแล้วล้างให้สะอาด ก่อนนำมาสับให้ค่อนข้างละเอียด

จากนั้นนำไปปรุงคลุกเคล้ากับหัวหอม ข่า ตะไคร้ โขกละเอียด โรยด้วยต้นหอม ผักชีฝรั่ง ใส่ข้าวคั่ว พริกป่น เติมรสด้วยมะม่วงเปรี้ยว และนำไปคั่วให้สุก เสร็จแล้วจะได้ “ลาบแย้” เมนูเด็ดของชาวอีสาน ที่ได้ชื่อว่าเป็นอาหารเลิศรสแซบอีหลีเด้อมานานหลายชั่วอายุคน

อย่างไรก็ตาม “ลาบแย้” เริ่มเป็นอาหารเมนูเด็ดที่หารับประทานได้ยากยิ่ง เพราะปัจจุบันแย้มีจำนวนลดลงมาก หลายพื้นที่จึงต้องทำการอนุรักษ์แย้ไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาเรียนรู้

ส่วนชาวบ้านหัวนา ต.นานวล อ.สนม จ.สุรินทร์ จะจับแย้มาปรุงอาหารรับประทานกันเพียงปีละครั้งและจับในจำนวนที่น้อยมากเพื่ออนุรักษ์แย้ไว้ให้ลูกหลานได้เรียนรู้ ในขณะเดียวกันลูกหลานก็ยังได้เรียนรู้ว่าแย้สามารถนำมาประกอบเป็นอาหารเลิศรสได้เช่นเดียวกัน