วัดภูจ้อก้อ จังหวัดมุกดาหาร

760

วัดภูจ้อก้อ จังหวัดมุกดาหาร ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ถิ่นอีสาน พุทธสถานบนเขาชื่อดัง สถานที่ปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะสายวิปัสสนากรรมฐานของหลวงปู่หล้า เขมปัตโต พระเถราจารย์ที่ได้รับการนับถืออย่างมากจากชาวบ้านมุกดาหาร
วัดภูจ้อก้อหรือวัดบรรพตคีรี ตั้งอยู่บนภูก้อจ้อ บริเวณบ้านหนองแวง ต.ลำบลหนองสูงใต้ อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร
เป็นวัดธรรมยุตนิกายที่สำคัญ ตั้งอยู่บนภูเขาขนาดย่อมที่มีความสงบสวยงาม วัดแห่งนี้เคยเป็นที่จำพรรษา
ของหลวงปู่หล้า เขมปัตตโต พระป่าสายวิปัสสนากรรมฐาน ชาวบ้านทั่วไปเรียกสั้นๆว่า หลวงปู่หล้า
พระถราจารย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถร ซึ่งมีความเคร่งครัดปฏิบัติภาวนา
เขมปัตตเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำสูงกว่า 22 เมตร ที่ประดับด้วยกระเบื้องอย่างดีจากประเทศอิตาลี มีชั้นล่างเป็นโถงอเนกประสงค์เพื่อศาสนกิจต่างๆ และชั้นบนจัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติ ผลงานและอัฐบริขารของหลวงปู่หล้า รวมทั้งประดิษฐานอัฐิและหุ่นขี้ผึ้งของท่านไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะ ปัจจุบันวัดบรรพตคีรี หรือวัดภูก้อจ้อ ถือได้ว่าเป็นศาสนสถานที่สำคัญของชาวมุกดาหารและชาวพุทธโดยทั่วไป ที่ใช้ในการประกอบศาสนกิจ และปฏิบัติธรรมถือศีลภาวนา ให้จิตใจผ่องแผ้วเกิดสมาธิ และปัญญาเพื่อการดับทุกข์ทั้งปวงตามแนวทางของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ลักษณะเด่น-เจดีย์หลวงปู่หลัก -ภูจ้อก้อ ประวัติวัดบรรพตคีรีมีความเป็นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2484 เริ่มแรกพระอาจารย์ขาวได้ธุดงค์มาปฏิบัติธรรมอยู่ที่ถ้ำภูก้อจ้อแห่งนี้ แล้วชักชวนให้ชาวบ้านแวงพากันสร้างพระพุทธรูปปูนขาวไว้หน้าถ้ำ จากนั้นก็มีพระกรรมฐานเวียนมาจำพรรษาหลายรูป จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2500 ชาวบ้านแวงได้นิมนต์หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่ภูเก้า อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร พร้อมด้วยพระตาล ชาวบ้านแวงที่เป็นพระบวชใหม่ ให้มาพำนักที่ถ้ำภูก้อจ้อแห่งนี้ หลังจากนั้นชาวบ้านแวงได้ร่วมกันสร้างกุฏิขึ้นบนที่ราบหลังถ้ำ หลวงปู่หล้าได้พัฒนาวัดแห่งนี้ให้เป็นศาสนสถานที่เจริญสติกรรมฐานอันเป็นมรดกทางศาสนาที่สำคัญแห่งภาคอีสาน และท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดภูก้อจ้อนี้จนห้วงสุดท้ายแห่งชีวิต และลาสังขารไปเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2540 สิริรวมอายุได้ 84 ปี 11 เดือน
หลังจากหลวงปู่หล้าได้ละสังขารแล้ว หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี พร้อมลูกศิษย์ได้หารือกันในงานฌาปนกิจและมีมติให้จัดสร้าง “เขมปัตตเจดีย์ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต” ขึ้นเป็นอนุสรณ์ โดยเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ.2542