วางศิลาฤกษ์สร้างอนุสาวรีย์ “เจ้าจันทกินรี” เจ้าเมืองคนแรกมุกดาหาร

294

ที่บริเวณข้างศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร ถนนแก้วกินรี อ.เมืองมุกดาหาร ดร.ไพฑูรย์ รักษ์ประเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร

นางอรสา รักษ์ประเทศ นายกเหล่ากาชาดมุกดาหาร พร้อมด้วยลูกหลานตระกูลเจ้าเมืองมุกดาหาร หน่วยงานราชการ พ่อค้า ประชาชนชาวมุกดาหาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จัดพิธีวางศิลาฤกษ์ สร้างอนุสาวรีย์พระยาจันทรศรีสุราชอุปราชามันธาตุราช (เจ้าจันทกินรี) เจ้าเมืองมุกดาหารคนแรก ในโอกาสครบรอบ 36 ปีการสถาปนาจังหวัดมุกดาหาร โดยพราหมณ์ปกรณ์ วุฒิพราหมณ์ พราหมณ์หลวงจากสำนักพระราชวัง เป็นผู้ประกอบพิธี

ทั้งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ที่สืบทอดสู่ชนรุ่นหลังให้ได้เคารพสักการะ แสดงความกตัญญูกตเวที น้อมรำลึกในคุณงามความดีของบรรพชน เป็นเกียรติประวัติแก่ชาวเมืองมุกดาหาร ตลอดทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของเมืองมุกดาหารในอดีต และจะได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และให้เป็นแลนด์มาร์คของจังหวัดมุกดาหารอีกแห่ง

สำหรับประวัติ เจ้าจันทกินรี เจ้าเมืองมุกดาหารคนแรกผู้ต่อก่อตั้งเมืองมุกดาหาร ท่านได้สืบเชื้อสายมาจากราชวงษ์ล้านช้าง เป็นโอรสเจ้าจันทรสุริยวงษ์ ซึ่งเป็นสานุศิษย์พระครูโพนเสม็ก ซึ่งเมื่อ พ.ศ. 2233 พระครูโพนเสม็กได้พาสานุศิษย์ คือเจ้าแก้วมงคล เจ้าจันทรสุริยวงษ์ และไพร่พลประมาณ 3 พันคน อพยพหลบหนีราชภัยจากราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ลงมาตามลำน้ำโขง ได้พำนักอยู่เพื่อบูรณปฎิสังขรณ์องค์พระธาตุพนมและพระธาตุอิงฮัง อยู่ถึง 3-4 ปี

ต่อมาสานุศิษย์ของท่านได้แยกย้ายกันไปตั้งบ้านตั้งเมืองในสองฝั่งโขง บางพวกก็ได้อพยพเข้าไปในลำน้ำมูล และลำน้ำชีตั้งเป็นเมืองสุวรรณภูมิแล้วแยกออกเป็นเมืองร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น พุทไธสง ชนบท ฯลฯ เป็นต้น

ส่วนเจ้าจันทรสุริยวงษ์ ได้พาไพร่พลไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านหลวงโพนสิม ใกล้กับพระธาตุอิงฮังในฝั่งโขงตะวันออก ( ดินแดนลาวปัจจุบัน) จนถึง พ.ศ.2313 เจ้าจันทกินรี บุตรเจ้าจันทรสุริยวงษ์ ได้นำไพร่พลอพยพจากบ้านหลวงโพนสิม ข้ามโขงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางฝั่งโขงตะวันตก บริเวณวัดร้างริมฝั่งโขงปากห้วยบังมุก ณ บ้านมโน ซึ่งมีต้นตาล 7 ยอด เพราะเห็นว่าเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์กว่า ต่อมาชาวบ้านเรียกว่า เมืองบังมุก

เวลากลางคืนได้มีผู้พบเห็นแก้วดวงหนึ่งสีสดใสเปล่งแสงเป็นประกายแวววาว ลอยออกจากต้นตาล 7 ยอด ริมฝั่งโขง จวบจนรุ่งสว่างแก้วดวงนั้นจึงลอยกลับมาที่ต้นตาล 7 ยอด แทบทุกคืน ตลอดจนมีผู้พบเห็นไข่มุกในหอยกาบ (หอยกี้) ในลำน้ำโขงอีกด้วย