หนองคายตรวจสต๊อกข้าวโรงสี แนะชาวนาเก็บข้าวรอราคาสูงค่อยขาย

808

นายโสภณ ห่วงญาติ นายอำเภอเมืองหนองคายรักษาการปลัดจังหวัดหนองคาย นำคณะทำงานตรวจสต๊อกข้าวโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ปีการผลิต 2559/60 ที่โรงสีไฟชัยธนาสินเจริญ อ.เมืองหนองคาย โดยนายพฤฒิพงศ์ เตียวศิริชัยสกุล รองกรรมการผู้จัดการบริษัทโรงสีไฟชัยธนาสินเจริญ นำคณะทำงานตรวจ     

       นายโสภณ ห่วงญาติ นายอำเภอเมืองหนองคาย รักษาการปลัดจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า การมาตรวจในครั้งนี้เนื่องจากนโยบายรัฐบาลที่จะชดเชยดอกเบี้ยให้กรณีโรงสีรับซื้อข้าวจากเกษตรกรแล้วไม่ได้ขายข้าวออกสู่ตลาด แต่โรงสีมีภาระหนี้สินกับธนาคาร ดังนั้นทางจังหวัดจึงทำการตรวจสอบโดยดูว่าจำนวนข้าวเปลือกที่ทางโรงสีแจ้งไว้กับทางจังหวัดมีตัวเลขตรงกันหรือไม่ โดยผู้เชี่ยวชาญของธนาคารกสิกรไทย (Progess) ตรวจสอบว่ามีข้าวในโกดังเท่าใดเพื่อพิจารณาชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้

จากการตรวจสอบไม่มีปัญหา ปริมาณตัวเลขยึดกับทางธนาคารเป็นหลัก ซึ่งที่จังหวัดหนองคายมีเพียงโรงสีเดียวที่เข้าร่วมโครงการของรัฐ


       ขณะที่นายพฤฒิพงศ์ เตียวศิริชัยสกุล รองกรรมการผู้จัดการบริษัทโรงสีไฟชัยธนาสินเจรญ กล่าวว่า ปีนี้ชาวนานำข้าวมาขายที่โรงสีน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งทางโรงสีได้แนะนำให้ชาวนาว่าควรนำข้าวมาขายเฉพาะที่ต้องการใช้เงินเท่านั้น เพราะถ้านำข้าวสดที่เก็บเกี่ยวเสร็จใหม่มาขายทันทีจะได้ราคาถูก แต่ถ้าชาวนาตากข้าวไว้ก่อนรอราคาที่รัฐบาลสนับสนุนช่วยเหลือก็จะได้ราคาที่ดีกว่า ในราคาตันละ 13,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าตลาดค่อนข้างมาก ทางโรงสีไม่มีการหยุดรับซื้อเพียงแต่ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่ชาวนาได้มีทางเลือก ถ้าไม่รีบร้อนใช้เงินมากเกินไปควรรอราคาที่สูงจึงค่อยนำข้าวมาขาย

จึงทำให้ขณะนี้มีการชะลอการนำข้าวมาขาย ทำให้ตลาดข้าวสารที่กรุงเทพฯ มีความต้องการข้าวสารมากขึ้นทำให้มีการขึ้นราคารับซื้อ โรงสีก็สามารถขึ้นราคารับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาได้ด้วยเป็นภาวะตลาดที่ดีขึ้น ราคารับซื้อที่โรงสีตอนนี้ดีขึ้น ข้าวเหนียว กข ตันละ 10,000 กว่าบาท ส่วนข้าวเจ้าหอมมะลิขึ้นมาเป็นตันละ 9,000 บาท ปัจจุบันพฤติกรรมของชาวนาเปลี่ยนไป จากเดิมที่หลังเก็บเกี่ยวแล้วจะนำข้าวเปลือกตากแดดก่อนค่อยนำมาขาย

แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าชาวนาเก็บเกี่ยวแล้วนำมาขายทันทีทำให้มีความชื้นอยู่ที่ร้อยละ 28-30 หากไม่ลดความชื้นภายใน 24-48 ชั่วโมง จะทำให้ข้าวเหลืองคือเริ่มเสื่อมสภาพ เกิดกลิ่นเปรี้ยว ดังนั้นทางโรงสีจึงเตรียมโรงอบข้าวไว้ไม่ให้เกิดปัญหาข้าวเสื่อมสภาพ

อย่างไรก็ตาม ข้าวที่หนองคายเป็นรองเพียงแค่ข้าวที่อุบลราชธานีเท่านั้น โรงสีเองได้แนะนำให้เกษตรกรหมั่นเปลี่ยนพันธุ์ข้าวทุกๆ 2 ปี เพราะเมื่อทางโรงสีสังเกตเห็นข้าวที่ชาวนานำมาขายมีเมล็ดแดงนั่นคือข้าวเริ่มกลายพันธุ์แล้ว