“หนองคายโมเดล” จะทำให้หนองคาย เป็นเมืองน่าอยู่

713

“หนองคายโมเดล” จะทำให้หนองคาย เป็นเมืองน่าอยู่ เมืองน่ากิน เมืองน่าเที่ยว และเป็นเมืองน่าลงทุน

เมื่อใกล้ถึงปี 2558 เข้ามาทุกที KEEP Magazine ขอนำบทสัมภาษณ์การเตรียมความพร้อมก่อนเป็น AEC ของหน้าด่านสำคัญ ประตูอินโดจีน จังหวัดหนองคาย โดย ดร.พงษ์พันธ์ สุนทรชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หนองคาย เขต 1 มาให้ชาวKEEP ได้ติดตามความคืบหน้ากันค่ะ

ในปี 2558 หนองคายมีความพร้อมอย่างไร
ดร.พงษ์พันธ์: สำหรับหนองคายเรามาการเตรียมความพร้อมหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยว ด้านการค้า ด้านแรงงาน ในแง่ของการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดหนองคายของเรานั้น ต้องบอกก่อนว่าหนองคายเรามีต้นทุนที่น้อยกว่าจังหวัดอื่นๆ สำหรับต้นทุนของการท่องเที่ยวเรามีเพียง “บั้งไฟพญานาค” ที่มีเพียงปีละครั้ง แต่จุดเด่นเราก็มี คือ “หนองคาย..เป็นประตูสู่อินโดจีน” นี่ก็เป็นข้อได้เปรียบ เราจึงตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด คือ “หนองคายโมเดล”
จะทำให้หนองคาย เป็นเมืองน่าอยู่ เมืองน่ากิน เมืองน่าเที่ยว และเป็นเมืองน่าลงทุน โดยการร่วมมือจาก 5 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งห้าภาคส่วนนี้จะร่วมมือกัน ซึ่งเรียกว่าเป็นการร่วมกันแบบบูรณาการ

ความพร้อมของเมืองน่าอยู่
ดร.พงษ์พันธ์: หนองคายเรารณรงค์ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกเพศทุกวัย ซึ่งตอนนี้เราได้รับคะแนนโหวตผ่านเว็ปไซต์ไว้ว่า เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุชาวต่างชาติ แต่เท่านั้นยังไม่เพียงพอ เราจึงเน้นให้แต่ละภาคส่วนร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ในเขตของตนให้มีความสะอาด สะดวกสบาย เริ่มจากหมู่บ้านน่าอยู่ไปจนถึงการเป็นจังหวัดน่าอยู่

เมืองน่ากิน อาหารปลอดสาร และเกษตรอินทรีย์
ดร.พงษ์พันธ์: หนองคายเราจะจัดให้เป็นเมืองน่ากิน ซึ่งผักและผลไม้ที่ปลูกหรือนำเข้ามาในจังหวัดหนองคายนั้น ต้องปลอดสารปนเปื้อน ซึ่งเราจะมีกานตรวจสอบคุณภาพทุกรูปแบบ เพื่อให้หนองคายเป็นเมืองอาหารปลอดสารพิษ ตอนนี้เราเริ่มที่อำเภอสระใคร

เพิ่มสีสันให้หนองคายเป็น..เมืองน่าเที่ยว
ดร.พงษ์พันธ์: สำหรับแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาตินั้น เรากำลังพัฒนาในเชิงธรรมชาติ เรื่องการคมนาคม เราก็ได้รับอนุมัติงบประมาณเพื่อสร้างถนนขนาด 4 ช่องจราจร คือเส้นทางหนองคาย อำเภอสังคม เชื่อมไปจนถึงอำเภอปากชม อำเภอภูกระดึงจังหวัดเลย นักท่องเที่ยวก็จะเลาะเรียบแม่น้ำโขงเพื่อมายังจังหวัดหนองคาย ส่วนเทศกาลสงกรานต์เดือนเมษายน นั้น หนองคายจะจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์ ที่ผ่านมาจะมีเพียงการอัญเชิญหลวงพ่อพระใสให้ประชาชนได้ทรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคลเท่านั้น ในปีนี้ได้วางแผนให้ถนนประจักษ์ ทั้งสายเป็นอุโมงค์น้ำ และเพิ่มสีสันให้มีการแสดงแต่ละจุด เพื่อสร้างความสุขให้กับเทศกาลมหาสงกรานต์ในปี 2556

3 โครงการยักษ์หนุนหนองคายเป็นเมืองน่าลงทุน
อีกสามโครงการที่ครม.อนุมัติแล้ว และมีเอกชนเสนอร่วมในการลงทุน คือ สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ของจังหวัดหนองคาย เพื่อรองรับเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ห่างจากตัวจังหวัดหนองคาย เพียง 11 กิโลเมตรออกไปทางจังหวัดอุดรธานี โครงการนี้จะให้ให้หนองคายและอุดรธานีใกล้กันมากขึ้น โครงการกระเช้าลอยฟ้าข้ามแม่น้ำโขง หนองคาย-เวียงจันทน์ที่อำเภอศรีเชียงใหม่ เพื่อเพิ่มแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว และโครงการหอคอยพญานาคที่สูงที่สุดในประเทศไทยที่บึงหนองคาย สามารถมองเห็นได้ทั้งจากฝั่งไทยและลาว

พัฒนาภาษาอังกฤษให้ภาคแรงงานเพื่อสะดวกในการสื่อสาร
ดร.พงษ์พันธ์: ตอนนี้เราได้เร่งให้มีการจัดอบรมภาษาอังกฤษให้กับแรงงานผู้ให้บริการทั้งหมด ตั้งแต่คนขับสามล้อเครื่องไปจนถึงพนักงานในโรงแรม และป้ายต่างๆ จะต้องมีสองภาษา คือมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษควบคู่กัน

ดร.พงษ์พันธ์: ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นความพร้อมที่ทางจังหวัดหนองคายจัดเตรียมเพื่อรองรับ

ประชาคมอาเซียน ไม่รู้..ไม่ได้
“ประชาคมอาเซียน” (ASEAN Community) เป็นเป้าหมายของการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียนภายในปี 2558 (ค.ศ. 2015) โดยมีวิสัยทัศน์ร่วมของผู้นำอาเซียน คือ “การสร้างประชาคมอาเซียนที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง มีกฎเกณฑ์กติกาที่ชัดเจน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ทั้งนี้ เพื่อสร้างประชาคมที่มีความแข็งแกร่ง สามารถสร้างโอกาสและรับมือสิ่งท้าทายทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เพิ่มอำนาจต่อรองและขีดความสามารถการแข่งขันของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศทุกด้าน โดยให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี สามารถประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้สะดวกมากขึ้น และประชาชนในอาเซียนมีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ใน 3 มิติ คือ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านกฎระเบียบ และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน

การเป็นประชาคมอาเซียน คือ การทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเป็น “ครอบครัวเดียวกัน” ที่มีความแข็งแกร่งและมีภูมิต้านทานที่ดี โดยสมาชิกในครอบครัวมีสภาพความอยู่ที่ดี ปลอดภัย และสามารถค้าขายได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้นประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย 3 เสาหลัก (Pillar) คือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และประชาชนของประเทศอาเซียนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมทั้ง 3 เสาหลัก ได้แก่ 1. ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และ 3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน