หลวงปู่เหรียญ อริยสงฆ์แห่งลุ่มแม่น้ำโขง

1353

“หลวงปู่เหรียญ” เกิดในสกุลใจขาน เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2455 ตรงกับวันพุธ ขึ้น 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด สถานที่เกิด ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เป็นบุตรคนที่ 2 ในบรรดาพี่น้อง 7 คน ของนายผา และนางพิมพา ประกอบอาชีพกสิกรรม ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ชีวิตครอบครัวพี่น้องทุกคนเสียชีวิตตั้งแต่เด็ก ส่วนโยมมารดาถึงแก่กรรมเมื่อท่านมีอายุ 10 ขวบ ภายหลังบิดามีภรรยาใหม่ท่านจึงไปอาศัยอยู่กับยาย ก่อนกลับมาอยู่กับบิดาอีกครั้งเมื่ออายุ 13 ปี ในวัยหนุ่มฉกรรจ์เคยมีความคิดจะแต่งงานมีครอบครัวเหมือนปุถุชนทั่วไป แต่คิดปลงตกในชีวิตที่มีแต่ความวุ่นวาย มีทุกข์มีสุขวนเวียนไม่รู้จบสิ้น เห็นว่ามีหนทางเดียวเท่านั้นที่จะหลุดพ้นทุกข์ คือ การออกบวช

เมื่อศรัทธาแรงกล้าจึงขอบิดาเข้าวัด บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ 15 วัน ก่อนเข้าอุปสมบท ที่วัดบ้านหงษ์ทอง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย เมื่อเดือนมกราคม 2475 สังกัดมหานิกาย โดยมีพระครูวาปีดิฐวัตร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์พรหม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ก่อนกลับมาจำพรรษาอยู่วัดโพธิ์ชัย บ้านหม้อ ระยะหนึ่งไปจำพรรษาที่วัดศรีสุมัง อ.เมือง จ.หนองคาย เข้าศึกษาด้านพระปริยัติธรรม จนสอบได้นักธรรมตรี ระยะแรก “หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ”เริ่มศึกษาพระกรรมฐาน ได้รับเมตตาจากพระอาจารย์บุญจันทร์ เป็นผู้สอนภาวนาพุทโธ และพระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน เป็นครูฝึกสอนการปฏิบัติธรรม ต่อมาพระอาจารย์กู่ได้พาท่านออกธุดงค์ไป จ.อุดรธานี และแปรญัตติเป็นธรรมยุต เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2476 ที่วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี โดยมีเจ้าคุณธรรมเจดีย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูประสาทคณานุกิจ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พ.ศ. 2476 จำพรรษาวัดป่าสาระวารี บ้านค้อ อำเภอผือ อุดรธานี เป็นที่ซึ่งพระอาจารย์มั่นเคยจำพรรษา ได้ตั้งใจทำความเพียรสงบใจมาก แต่วิปัสสนายังไม่แกกล้า ได้แต่สมถะ ออกพรรษาแล้วจึงธุดงค์ไปจังหวัดเลย พักวิเวกอยู่ถ้ำผาปู่ และ ถ้ำผาบิ้ง ได้ความสงบสงัดมาก

พ.ศ. 2477 พรรษาสอง จำพรรษาวัดอรัญญวาสี อำเภอท่าบ่อ หนองคาย มีพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน เป็นหัวหน้า ตั้งใจไม่นอนกลางวัน ค่ำลงทำความเพียร เดินจงกรม นั่งสมาธิ ถึงตีสอง แล้วลุกขึ้นทำความเพียรจนสว่าง พอถึงเดือนหกเดินทางกลับมาจำพรรษาที่ วัดป่าบ้านค้อ ตามเดิม

พ.ศ. 2478 พรรษาสาม จำพรรษาที่วัดป่าสาระวารี
พ.ศ. 2479-2480 พรรษา4และพรรษาที่5 จำพรรษาที่วัดอรัญญบรรพต “หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ” ทำภาวนาจิตสงบแล้วพิจารณาขันธ์ห้าเป็นอารมณ์ เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาตามสภาพความเป็นจริง แล้วปล่อยวาง จิตสงบพร้อมกับความรู้เป็นอย่างดี คล้ายหมดกิเเลส แต่ต่อมามีเรื่องต่างๆ มากระทบ ก็รู้สึกจิดผิดปกติ หวั่นไหวไป ตามอารมณ์นั้นๆ อยู่บ้าง แต่ไม่รุนแรง ก็แสดงว่ากิเลสยังไม่หมดสิ้น พยายามแก้ก็ไม่ตก นึกในใจว่าใครหนอจะช่วยแก้จิตให้ได้ จึงนึกไปถึงกิตติศัพท์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต จึงชวนภิกษุรูปหนึ่งลงเรือจากหลวงพระบางขึ้นไปทางอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เดินทางไปหาท่าน

พ.ศ. 2481 หลวงปู่เหรียญ วรลาโภได้พบท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ โดยความเมตตาของหลวงตาเกต ซึ่งเป็นสัทธิ วิหาริก ของท่าน ได้พาไปพบที่ป่าละเมาะใกล้ๆ โรงเรียนแม่โจ้ อำเภอสันทราย ได้เห็นด้วยความอัศจรรย์ใจเพราะตรงกับในนิมิตทุกประการ ท่านได้แนะนำว่านักภาวนา พากันติดสุขจากสมาธิจึงไม่พิจารณาค้นคว้าหาความจริงของชีวิตกัน “หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ” ท่านซักรูปเปรียญให้ฟังว่า ธรรมดาเขาทำนาทำสวน เขาไม่ได้ทำใส่บนอากาศแลย เขาทำใส่บนพี้นดินจึงได้ผล ฉันใด โยคาวจรผู้บำเพ็ญเพียรทั้งหลายควร พิจารณาร่างกายเป็นอารมณ์ จนเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในนามรูป ด้วยอำนาจแห่งปัญญานั้นแหละจึงจะเป็นทางหลุดพ้นได้ ไม่ควรติดอยู่ในความสงบโดยส่วนเดียว เมื่อท่านให้โอวาทแล้วจึงพิจารณาดูตังเองว่าได้เจริญเพียงสมถะไม่ได้ เจริญ วิปัสสนาเพียงรู้แจ้งในธรรมที่ควรรู้ คือ อริยสัจสึ่ จึงเจริญวิปัสสนาเรื่อยมา ตั้งแต่พรรษาที่ 6 อยู่ในเขตภาคเหนือจนถึงพรรษาที่ 16 แล้วเดินทางกลับธุดงค์ ผ่านหลวงพระบาง ประเทศลาว เข้าเวียงจันทน์ มายังหนองคาย พรรษาที่ 19 ถึง 26 หลวงปู่เหรียญ จำพรรษาเผยแพร่ธรรมะปฏิบัติอยู่ภาคใต้ แล้วจึงย้ายไปอยู่วัดอรัญญบรรพต ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 เรื่อยมาจากนั้นออกธุดงค์ไปสถานที่ต่างๆ หลายจังหวัดภาคอีสาน ก่อนขึ้นไปทางเหนือและเข้าฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น มุ่งบำเพ็ญเพียรและเข้าจำพรรษาในหลายที่ พรรษา 1-5 อยู่ใน จ.อุดรธานี และ จ.หนองคาย ช่วงพรรษาที่ 6-14 ขึ้นไปจำพรรษาอยู่ใน จ.เชียงใหม่ วัดสันต้นเปาและสำนักสงฆ์ใน อ.สันกำแพง พรรษาที่ 15-18 อยู่ที่ อ.เถิน จ.ลำปาง พรรษาที่ 19-22 ล่องลงใต้เข้าจำพรรษาที่สำนักสงฆ์ จ.พังงา ก่อนย้ายไปอยู่วัดอรัญบรรพต ตั้งแต่ปี พ.ศ.2502 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ในบางโอกาสท่านจะมาพำนักอยู่ที่สำนักสงฆ์ในวังสวนจิตรลดา กรุงเทพฯ

rhian1กาลต่อมา หลวงปู่เหรียญได้เป็นเจ้าอาวาสวัดอรัญบรรพต ซึ่งในอดีตวัดแห่งนี้ยังขาดความพร้อมในหลายด้าน แต่บรรยากาศทั้งภายในและภายนอกวัดสงบเหมาะสมสำหรับการวิปัสสนากรรมฐาน โดยสมัยที่หลวงปู่มาอยู่ใหม่ๆ มีเพียงกุฏิเล็กมุงหญ้าคาพอหลบฝนได้เท่านั้น แต่กว่า 40 ปีที่หลวงปู่เหรียญได้ปกครองดูแลวัดอรัญบรรพต พยายามคงสภาพของความเป็นวัดป่าไว้มากที่สุด โดยสร้างเสริมสิ่งก่อสร้างเท่าที่จำเป็นแก่การประกอบศาสนกิจ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ เป็นพระกัมมัฏฐาน ถือธุดงควัตร ฉันสำรวมในบาตรมื้อเดียว ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เคร่งในพระธรรมวินัยยิ่ง รับกิจนิมนต์สอนปฏิบัติธรรมสมาธิและเทศนาธรรมแก่ศิษยานุศิษย์ทั่วประเทศ แม้หลวงปู่เหรียญจะมีฐานะทางการปกครองสงฆ์ระดับเจ้าคณะอำเภอศรีเชียงใหม่-สังคม ฝ่ายธรรมยุต และเป็นพระเถระอาวุโสแห่งเมืองหนองคาย แต่ท่านยังคงยึดแนวทางการครองตนตามแบบฉบับพระป่าในสายอีสานไว้อย่างเคร่งครัดด้วยการฝึกฝนอบรมจากหลวงปู่มั่น ปฏิปทาการปฏิบัติธรรมของหลวงปู่เหรียญจึงงดงาม อุทิศตนให้แก่พระพุทธศาสนา ทุกวันที่ 8 มกราคม คณะศิษยานุศิษย์จะร่วมกันจัดงานบุญใหญ่ที่วัดอรัญบรรพต เพื่อสรงน้ำรับพร เป็นการแสดงกตัญญุตาคุณแด่หลวงปู่เหรียญเป็นประจำเสมอมา ซึ่งจัดให้มีงานทำบุญ 2-3 วัน ประมาณ 7-8-9 ม.ค.ทุกปี ใบหน้าหลวงปู่จะมีรอยยิ้มให้เห็นอยู่เสมอ ไม่เคยแสดงอากัปกิริยาเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าในการสนองศรัทธาญาติโยม ประสบการณ์ ทางธรรมที่หลวงปู่สั่งสมมาล้วนถูกถ่ายทอดสู่บรรดาศิษย์ให้ประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อหนทางแห่งมรรคผลนิพพาน ด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง

วันที่ 5 มิถุนายน 2548 ถือเป็นวาระแห่งความสูญเสียของพุทธศาสนิกชนชาวหนองคายและชาวไทยทั่วประเทศ เมื่อ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต ได้ละสังขารลงด้วยอาการสงบ สิริอายุ 93 ปี 73 พรรษา สร้างความอาลัยให้กับบรรดาลูกศิษย์ลูกหาเป็นอย่างยิ่ง

ธรรมโอวาท

1. นาทั่งหลายมีหญ้าเป็นโทษ หมู่สัตว์นี้มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นโทษทั่งนักบวช ทั้งคฤหัสถ์ ถ้าใครสะสมกิเลอให้แน่นหนาทั้งในใจ ใจก็ให้ทุกข์ ให้โทษกับผู้นั้น ไม่ใช่ให้ทุกข์แก่นักบวชฝ่ายเดียว
2. อันสตินี้ สัมปชัญญะนี้ ก็สมมติเป็นโชเฟอร์กำพวงมาลีย มีสติคอยระมัดระวัง กาย วาจา จิต อยู่เสมอๆ คอยระวังเรื่องต่างๆ ระมัดระวังไปเรื่อยๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเที่ยวประกาศ ห้ามใครมาติชมเรา ที่ว่าระวังนั้น คือ เมื่อมีเรื่องมากระทบให้รู้ทัน ในทันที เราจะห้ามจิตไม่ให้หวั่นไหวไปไม่ได้ แต่ให้ระวัง ต้องควบคุมจิตด้วยสติให้ถี่ๆ กระชับสติสัมปชัญญะให้มันถี่เข้ามา จะได้ไม่หวั่นไหวกับคำพูดเสียดแสงใจต่างๆ
3. ถ้าจิตสงบมีกำลังพักผ่อนเต็มที่แล้ว มันก็จะอยากรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งที่ควรรู้ ต้องกำหนดหาเรื่องที่ควรจะรู้ สิ่งใดที่เรายังไม่รู้ก็ต้องกำหนดพิจารณา เช่น กำหนดพิจารณาทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์ก็เบื่อในทุกข์ของขันธ์5 อันไม่เที่ยงแปรปรวน อาการหวั่นไหวกันไปมานั่นแหละ เรียกว่า ทุกขลักษณะ เมื่อจิตรู้อย่างนี้ ก็จะได้ไม่หวั่นไหว ไม่ยึดเอาของไม่เที่ยงมาเป็นทุกข์

บุญกุศล ย่อมอำนวยผลให้ตราบเท่าถึงชรา พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ คือ มีศรัทธา เชื่อบุญ-บาป ตั้งใจบำเพ็ญบุญกุศล ก็จะทำให้ร่างกายปกติ แข็งแรง จิตใจตั้งมั่นไม่ทุกข์ร้อน คนมีบุญใจไม่ร้อน ใจไม่ทุกข์ ลองสังเกตตัวเองว่าตั้งแต่ ตั้งใจทำดี ความโกรธ ความใจร้อน ความโมโหโทโสเบาลงหรือเปล่า อันนี้ต้องพิจารณาเอง คนอื่นรู้ให้ไม่ได้ ตัวรู้ของตัว