น้ำท่วมในภาคอีสาน อุบลฯยังวิกฤติ

197

สถานการณ์น้ำท่วมในภาคอีสานยังไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะที่ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำมูล จ.อุบลราชธานี ระดับน้ำยังไม่ลดลง คาดว่าต้องใช้ระยะเวลาอีกเป็นเดือนกว่าระดับน้ำจะลดลง และเขื่อนปากมูลจะระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงได้ ทำให้ชาวบ้านต้องอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวต่อไป ขณะเดียวกันอุณหภูมิเริ่มลดลง อากาศเริ่มหนาวเย็นเฉลี่ย 23-25 องศาฯ และมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ ทำให้กระทบต่อผู้สูงอายุ คนป่วย และเด็ก ขณะที่เครือข่ายชุมชนและ พอช. เร่งระดมช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ด้าน นางบุญทัน เพ็งคำ ประธานเครือข่ายภัยพิบัติลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำเซบก จ.อุบลฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนและครอบครัว รวมทั้งชาวบ้านในชุมชนต่างๆ เช่น หาดสวนสุข คูยาง ท่าบ้งมั่ง ฯลฯ ประมาณ 300 ครอบครัวเข้ามาอาศัยอยู่ในเต้นข้างเทศบาลเมืองวารินชำราบ และมีการจัดทำครัวกลางวันละ 1 มื้อ เพื่อแจกจ่ายให้แก่พี่น้องที่ประสบภัย โดยใช้เงินจากกองทุนเครือข่ายภัยพิบัติฯ รวมทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง จากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือ แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะมีคนที่เดือดร้อนเยอะ มีศูนย์พักพิงต่างๆ กว่า 10 จุด ที่กระจายอยู่ในเขต อ.วารินชำราบ และอำเภอเมือง หากรวมผู้เดือดร้อนทั้งหมดน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 1,000 ครอบครัว

ชาวบ้านตอนนี้เดือดร้อนเพราะหากินไม่ได้ ส่วนใหญ่จะทำงานรับจ้างทั่วไป หากินเป็นรายวัน บางชุมชน เช่น ชุมชนเกตุแก้ว มีอาชีพเก็บของเก่าขาย แต่พอน้ำท่วมก็ออกไปเก็บของไม่ได้ ขาดรายได้ ตอนนี้ก็ต้องอดทนกันไปก่อน แต่ช่วง 2-3 วัน มานี้อากาศเริ่มเย็นลง หลายครอบครัวไม่ได้เตรียมเอาเสื้อผ้าหนาๆ มา เพราะทางหน่วยงานไม่ได้แจ้งเตือนว่าน้ำจะมาเร็ว คิดว่าน้ำจะท่วมไม่กี่วัน พอจะกลับไปเอาเสื้อผ้า น้ำก็ท่วมบ้านหมดแล้ว ตอนนี้สิ่งของจำเป็นก็คือผ้าห่ม เสื้อกันหนาวสำหรับเด็ก คนแก่ และคนป่วย รวมทั้งข้าวสารและอาหารแห้ง เพราะไม่รู้ว่าน้ำจะลดลงเมื่อไหร่ คิดว่าต้องอยู่ที่นี่อีกเป็นเดือน นางบุญทัน ระบุ

ขณะที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานผลกระทบจากฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงมีการระบายน้ำจากเขื่อนลงแม่น้ำสายหลัก และลำน้ำสาขา ทำให้มีสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง โดยช่วงวันที่ 28 ก.ย.  17 ต.ค.65 เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่รวม 59 จังหวัด 322 อำเภอ 1,625 ตำบล 9,913 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 450,633 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่รวม 29 จังหวัด รวม 147 อำเภอ 938 ตำบล 5,820 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 369,513 ครัวเรือน
วันเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยาอัปเดตเส้นทางพายุ เนสาท (NESAT) ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 100 กม./ชม. มีแนวโน้มจะทวีกำลังขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นได้ โดยเคลื่อนผ่านตอนใต้ของเกาะไหหลำ ประเทศจีน และเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 20 – 21 ต.ค.65 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับอย่างรวดเร็ว อาจมีผลกระทบทำให้เกิดฝนตกในพื้นที่ภาคอีสาน ส่วนช่วงวันที่ 17 – 21 ต.ค.65 ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร