ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ ประเพณีของชาวอีสาน

3007

ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสานที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแสดงถึงความเป็นชาติเก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองมานาน เป็นเอกลักษณ์ของชาติและท้องถิ่น และมีส่วนช่วยให้ชาติดำรงความเป็นชาติของตนอยู่ตลอดไป

ฮีตสิบสอง มาจากคำสองคำได้แก่ ฮีต คือคำว่า จารีต ซึ่งหมายถึง ความประพฤติ ธรรมเนียม ประเพณี ความประพฤติที่ดี และ สิบสอง หมายถึง สิบสองเดือน ดังนั้นฮีตสิบสองจึงหมายถึงประเพณีที่ประชาชนในภาคอีสานปฏิบัติกันมาในโอกาสต่าง ๆ ทั้งสิบสองเดือนของแต่ละปี เป็นการผสมผสานพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องผีและพิธีกรรมทางการเกษตร เข้ากับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา นักปราชญ์โบราณได้วางฮีตสิบสองไว้ดังนี้

เดือนอ้าย – บุญเข้ากรรม
เดือนยี่ – บุญคูณลาน
เดือนสาม – บุญข้าวจี่
เดือนสี่ – บุญพระเวส
เดือนห้า – บุญสงกรานต์
เดือนหก – บุญบั้งไฟ
เดือนเจ็ด – บุญซำฮะ
เดือนแปด – บุญเข้าพรรษา
เดือนเก้า – บุญข้าวประดับดิน
เดือนสิบ – บุญข้าวสาก
เดือนสิบเอ็ด – บุญออกพรรษา
เดือนสิบสอง – บุญกฐิน

คองสิบสี่ เป็นคำและข้อปฏิบัติคู่กับฮีตสิบสอง คอง แปลว่า แนวทาง หรือ ครรลอง ซึ่งหมายถึง ธรรมเนียมประเพณี หรือแนวทาง และ สิบสี่ หมายถึง ข้อวัตรหรือแนวทางปฏิบัติสิบสี่ข้อ ดังนั้นคองสิบสี่จึงหมายถึง ข้อวัตรหรือแนวทางที่ประชาชนทุกระดับ นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ ผู้มีหน้าที่ปกครองบ้านเมือง พระสงฆ์ และคนธรรมดาสามัญพึงปฏิบัติสิบสี่ข้อ อาจสรุปได้หลายมุมมองดังนี้

เป็นหลักปฏิบัติกล่าวถึงครอบครัวในสังคม ตลอดจนผู้ปกครองบ้านเมือง
เป็นหลักปฏิบัติของพระมหากษัตริย์ในการปกครองบ้านเมือง และหลักปฏิบัติของประชาชนต่อพระมหากษัตริย์
เป็นหลักปฏิบัติที่พระราชายึดถือปฏิบัติ เน้นให้ประชาชนปฏิบัติตามจารีตประเพณี และคนในครอบครัวที่ปฏิบัติต่อกัน
เป็นหลักปฏิบัติในการปกครองบ้านเมืองให้อยู่เป็นสุขตามจารีตประเพณี

แต่ละข้อมีคำว่าฮีตนำหน้าด้วย (ทำให้เกิดความสับสนกับฮีตสิบสอง) แต่ละคองจะมีสิบสี่ฮีต ยกเว้น ฮีตปีคลองเดือน จะมีเพียงสิบสองฮีต ซึ่งนั่นก็คือฮีตสิบสองที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น คองประกอบด้วย

ฮีตเจ้าคองขุน
ฮีตท้าวคองเพีย
ฮีตไพร่คองนาย
ฮีตบ้านคองเมือง
ฮีตปู่คลองย่า
ฮีตตาคองยาย
ฮีตพ่อคองแม่
ฮีตใภ้คองเขย
ฮีตป้าคองลุง
ฮีตลูกคองหลาน
ฮีตเถ้าคองแก่
ฮีตปีคองเดือน (ฮีตสิบสอง)
ฮีตไฮ่คองนา
ฮีตวัดคองสงฆ์