การดูแลรักษาผ้าไหม

835

คนไทยหันมานิยมใช้ผ้าไหมกันมาก แต่บางคนก็ยังกล้า ๆ กลัว ๆ ไม่ยอมซื้อผ้าไหมมาใช้เพราะเห็นว่าเป็นของแพงที่มีความสวยงาม ประณีต เกรงกันว่าจะรักษาให้ดีและสวยงามตลอดไปยาก ทั้งที่จริงแล้วการดูแลรักษาผ้าไหมไมใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลย หากผู้ใช้รู้จักให้ความสนใจในความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับการขจัดรอยเปื้อนบนผ้าไหมและวิธีการรักษาให้สวยงามคงทนตลอดไป

เริ่มกันตั้งแต่การขจัดรอยเปื้อนบนผ้าไหมที่เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น คราบสีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงน้ำตาลแก่ที่เกิดจากการเก็บผ้าไว้นาน หากใช้ผงซักฟอกแล้วยังไม่ดีขึ้น ก็ต้องใช้โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซต์ จะทำให้ผ้าไหมไม่เสีย
– รอยเปื้อนที่เกิดจากคราบเบียร์ที่ถุกปล่อยทิ้งไว้นาน ควรใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ หรือ โซเดียมคาบอเรต
– รอยเปื้อนที่เกิดจากเลือด ให้ใช้กรดออกซาลิก หรือถ้าต้องการให้ขาวยิ่งขึ้น ก็ใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์
– รอยเปื้อนที่เกิดจากไอโอดีน ใช้สารละลายโซเดียมไธโอซัลเฟตความเข้มข้น 10 % ถูหรือแปรงเบา ๆ ตรงรอยเปื้อนแล้วล้างให้สะอาด
– รอยเปื้อนจากคราบสนิม ใช้กรดออกซาลิกเจือจางที่อุ่นหรือสารที่เป็นสารขจัดสนิม ( ควรล้างอย่างระมัดระวัง )
– ส่วนรอยเปื้อนจากลิปสติกและแป้งรองพื้นให้แต้มด้วยน้ำยาลบหมึกพิมพ์ และล้างด้วยตัวทำลายที่ระเหยง่าย หรือน้ำยาซักแห้ง ถ้ายังมีคราบเหลืองหลงเหลืออยู่ ควรใช้สารละลายเจือจางของโพตัสเซียมไดโครเมต แล้วตามด้วยสารละลายโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ที่อุ่น และกรดออกซาลิกที่อุ่น

เมื่อรู้จักวิธีขจัดรอยเปื้อนต่าง ๆ แล้ว ต้องรู้อีกว่าทุกครั้งควรซักผ้าไหมนั้นให้สะอาด อย่าไปหวงน้ำ เดี๋ยวจะทำให้สารที่ตกค้างอยู่ไปออกฤทธิ์ทำลายเส้นไหมให้เสียหายได้และ ก่อนจะใช้สารตัวใดกับผ้าไหมควรทดสอบโดยหยดสารนั้นลงบนบริเวณตะเข็บด้านในดูว่าทำให้ผ้าไหมเปลี่ยนสีหรือไม่ ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นแสดงว่า สารตัวนั้นใช้ได้

เริ่มตั้งแต่การซัก ควรใช้สบู่หรือสารซักฟอกที่มีสภาพเป็นกลางหรือมีความเป็นด่างน้อย ไม่ควรขยี้หรือขัดถูผ้าไหมแรง ๆ แต่ควรซักด้วยการแกว่งหรือสลัดเบา ๆ ในน้ำจนสะอาด แล้วจึงค่อย ๆ บีบเอาน้ำออกจนผ้าหมาด แต่อย่าบิดผ้าไหม และอย่าซักโดยใช้เครื่องซักผ้า

เวลาตากให้ตากไว้ในที่ร่ม ไม่ควรแขวนผ้าไหมไว้กลางแดดหรือแขวนไว้ใกล้แหล่งกำเนิดรังสี ถ้าต้องการให้ผ้าไหมแห้งเร็วก็ให้เป่าแห้งโดยใช้พัดลม ไม่ควรทำให้แห้งโดยใช้เครื่องปั่นผ้า เพราะจะทำให้เกิดรอยยับมาก ซึ่งจะทำให้รีดลำบากและไม่ควรปล่อยให้ผ้าแห้งเองโดยใช้เวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดรอยด่างเป็นจุด ๆ จากรอยแห้งของหยดน้ำ

ส่วนการรีด ก็ควรรีดขณะผ้ายังหมาดอยู่ แต่ในกรณีที่ผ้าแห้งแล้ว ให้พรมน้ำลงบนผ้าจนผ้าชื้นทั่วทั้งผืน ควรใช้อุณหภูมิในการรีดไม่เกิน 145 องศาเซลเซียส และรีดด้านในของผ้า หรืออาจจะใช้ผ้าบาง ๆ ชุบน้ำยาหมาด ๆ ปูลงด้านนอกของผ้า หรืออาจจะใช้ผ้าบาง ๆ ชุบน้ำยาหมาด ๆ ปูลงด้านนอกของผ้า แล้วจึงรีดทับบนผ้าบางนั้น จะทำให้ได้ผ้าไหมที่มีความเรียบและสวยงาม แต่ถ้ารีดผ้าไหมขณะยังเปียกและใช้ความร้อนสูงเกิน จะทำให้ผ้าไหมมีความกระด้างไม่น่าสัมผัส

สำหรับผ้าไหมที่ซื้อมาใหม่
สำหรับผ้าไหมที่ซื้อมาใหม่นั้น ควรจะนำไปแช่น้ำหรืออบไอน้ำ เพื่อให้เนื้อผ้ามีความอยู่ตัวก่อนที่จะนำไปตัด ซึ่งขั้นตอนสำหรับการดูแลรักษาผ้าไหม มีอยู่ 3 ขั้นตอน ดังนี้

1. ขั้นตอนการซัก การทำความสะอาดผ้าไหมให้ดูใหม่อยู่เสมอ ควรซักด้วยน้ำยาซักแห้งชนิดอ่อน ถ้าเป็นน้ำยาซักแห้งที่ทำมาสำหรับผ้าไหมโดยเฉพาะก็จะดีมาก แต่ไม่แนะนำให้ซักผ้าไหมด้วยเครื่องซักผ้า เพราะจะทำให้ผ้าไหมยับมากและรีดยาก ควรซักผ้าไหมด้วยมือด้วยความนุ่มนวลและไม่ขยี้หรือบิดผ้าแรง ๆ เพราะจะทำให้ผ้าเสียทรง หากนำผ้าไหมลงน้ำแล้วไม่ควรแช่ไว้นาน โดยเฉพาะผ้าสีสด เช่น สีม่วง สีชมพูสด สีบานเย็น และโดยเฉพาะผ้าโทนสีเข้ม ๆ หลังจากซักเสร็จแล้วควรสลัดผ้าไหมให้คลายตัวและไม่ย่นก่อนนำตาก เมื่อผ้าแห้งจะทำให้รีดได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้ผ้าไหมไม่เสียทรงและยับง่าย

2. ขั้นตอนการตาก ขั้นตอนของการตากนั้น หลังจากทำการซักเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ควรสลัดผ้าเพื่อให้ผ้าคลายตัวแล้วนำไปตากในที่ร่ม หรือที่ที่มีแสงแดดอ่อน ๆ ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ที่สำคัญพยายามเลี่ยงในบริเวณที่แดดจัด ๆ เพราะจะทำให้สีผ้าไหมซีดได้

3. ขั้นตอนการรีด ขั้นตอนในการรีดนั้น ก่อนรีดให้ฉีดพรมน้ำยารีดผ้าไหมให้ทั่ว และรีดด้วยความระมัดระวัง โดยใช้ความร้อนที่เตารีดแต่ละชนิดกำหนดไว้ แต่สำหรับผ้าไหมพิมพ์ลายให้ลดความร้อนลงจากปกติประมาณ 1 – 2 ระดับ ถ้าผ้าไหมยับมากก่อนรีดควรฉีดพรมน้ำยาให้ทั่ว แล้วพับใส่ถุงพลาสติก นำไปแช่ในช่องเข็งในตูเย็นประมาณ 10 – 15 นาที แล้วจึงนำออกมารีด จะทำให้รีดผ้าไหมได้ง่ายและเรียบยิ่งขึ้น