พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล วัดเลียบ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

736

พระอาจารย์เสาร์ ฉายา กนตสีโล เกิด ณ วันจันทร์ แรม ๔ ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา ตรงกับ วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๐๒ ที่บ้านข่าโคม ตำบลหนองขอน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

เนื่องจากท่าน เป็นพระวิปัสสนากรรมฐาน รุ่นแรกๆ แต่ครั้งอดีต ก่อนที่จะ มีการบันทึกจดจำ ประวัติของท่าน ได้โดยละเอียด ถี่ถ้วน จึงทำให้ทราบ แต่เพียงชีวประวัติย่อ เท่านั้น

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรมและปฏิปทา:
ภายหลังที่หลวงปู่เสาร์ ท่านได้สละเพศ ฆราวาสแล้ว ท่านอุปสมบท ที่วัดใต้ จังหวัด อุบลราชธานี ภายหลังต่อมา ได้ญัตติ เป็นพระธรรมยุต ที่วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม ปัจจุบัน) มีพระครูทา โชติปาโล เป็นพระอุปัชณายะ เจ้าอธิการสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ท่านเป็นผู้มีอัธยาศัย น้อมไป ในสมาธิวิปัสสนา และพอใจ แนะนำสั่งสอนผู้อื่น ในทางนั้นด้วย เป็นผู้ใฝ่ใจ ในธุดงควัตร หนักแน่น ในพระธรรมวินัย ชอบวิเวก ไม่ติดถิ่นที่อยู่ และท่านได้รับ ความสงบใจ ในการปฏิบัติเป็นอย่าง

หลวงปู่เสาร์ กนตสีโล เจริญธรรมโดยลำดับ แห่งองค์ภาวนา ต่อมาท่านมีความคิดว่า การที่ท่านปฏิบัติภาวนา อยู่นี้ ก็ได้ผล เป็นที่น่าพอใจ แต่ทางที่ดี ควรออกไปอยู่ป่าดง หาสถานที่สงบ จากผู้คน จิตใจ คงจะสงบกว่านี้ เป็นแน่แท้ ดังนั้น ท่านได้ออกธุดงค์ มุ่งสู่ป่าทันที ในวันรุ่งขึ้น ความปรารถนาของท่าน ก็เพื่อภาวนา และพิจารณาสมาธิธรรม ถ้าแม้เป็นจริง ดังคำตั้งใจแล้ว เมื่อกลับเข้าสู่วัด ท่านจะนำความรู้ ที่เกิดจากจิตใจ เหล่านั้น มาเผยแผ่ ยังผู้ที่หวัง ซึ่งความพ้นทุกข์ ต่อไป

ภายหลังจาก หลวงปู่เสาร์ กนตสีโล ไปอยู่ป่าดง ฝึกฝนจิตใจ เจริญ ศีล สมาธิ ปัญญา จำพรรษา ในท่ามกลาง สิงสาราสัตว์ ในหุบเขา ถ้ำลึก เป็นเวลาอันสมควร ท่านจึงได้ ออกมาเปิดสำนัก ปฏิบัติธรรม ในวัดเลียบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ในสมัยก่อนนั้น มีพระสงฆ์ฆราวาส ที่สนใจ กันอย่างจริงจัง ไม่มากนัก ถึงกระนั้น ท่านก็ไม่ได้ ลดละความพยายาม ท่านก็ได้ตั้งอกตั้งใจ ในการสอนอบรม ผู้สนใจ ในธรรม ให้เกิดความรู้แจ้ง แก่ผู้ปฏิบัติ เพื่อเป็นหลักยืนยัน ว่าการเจริญศีล สมาธิปัญญานี้ เป็นความสงบ และสามารถทำตน ให้หลุดพ้นได้จริง

ดังคำพระธรรมเทศนา โดยพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต แสดงที่ วัดถ้ำกลองเพล เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๓๒ “เรื่องปฏิปทา ของพระกรรมฐาน” ตอนหนึ่งว่า “..หลวงปู่เสาร์ เป็นบูรพาจารย์ ของพระกรรมฐาน ทั้งหลาย ในภาคอีสาน แต่ก่อนพระกรรมฐาน ไม่ได้มีมากมาย เหมือนอย่าง สมัยปัจจุบันนี้ เพราะว่าไม่มีใคร ไปศึกษา และนำไปประพฤติปฏิบัติ ไม่มีใคร หอบเอาความรู้ จากพระไตรปิฏก มาสอนคน โดยมากสมัยก่อน เทศน์ ไปตามหนังสือ อ่านให้โยมฟัง พออ่านเสร็จ โยมก็สาธุ นึกว่าได้บุญแล้ว และก็พากันกลับบ้าน บางวันเทศน์ เรื่องพระโพธิสัตว์ใช้ชาติ เช่น สัญชัย ท้าวก่ำกาดำ เรื่องมโฆสก ฯลฯ ไม่ให้เอาธรรมะ มาสอนใจ ของตัวเราเอง เพราะฉะนั้น หลวงปู่ ครูอาจารย์ ทั้งหลายนี้ ท่านเอาแต่ ประพฤติปฏิบัติ รู้ธรรมแจ้งมาสอนเรา.. “

หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ท่านมีลูกศิษย์ที่สำคัญคือ “ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต”

ปัจฉิมวัย:
ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ท่านมรณภาพ ที่วัดอำมาตย์ เมืองจำปาศักดิ์ คณะศิษย์นำสรีระท่าน มาถวาย เพลิงที่วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เป็นพระอาจารย์ ทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน ของภาคอีสาน รุ่นเก่าแก่ ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ควรแก่การกราบไหว้บูชา อย่างสูงยิ่ง ปฏิปทาของท่าน เด็ดเดี่ยว เยือกเย็น มั่นคง น่าเคารพ เลื่อมใส ยิ่งนัก ชีวประวัติของท่าน ก็งดงามยิ่ง ไม่มีความด่างพร้อย ตลอดเวลา ที่ทรงดำรงเพศบรรพชิต จวบจนวาระสุดท้าย ของชีวิต ก็ยิ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจ ในความเด็ดเดี่ยว เคร่งครัด ของการทรงศีล ครองธรรม ตามพระธรรมวินัย ของบูรพาจารย์ ผู้เป็นทั้งพ่อแม่ และครูอาจารย์ ของพระภิกษุสามเณร จริยาวัตร ของท่านสมบูรณ์ บริสุทธิ์ผุดผ่อง สง่าผ่าเผย จิตใจเปี่ยมล้นเมตตา เป็นที่ยึดเหนี่ยวหัวจิต หัวใจ ของปวงชน ลูกศิษย์ ลูกหา ทั้งหลาย ตลอดทั้งสอง ฝั่งลุ่มแม่น้ำโขง วาจาของท่านนั้น ว่ากันว่า มีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก ปรกติท่านพูดน้อยมาก แต่ไม่ว่า จะกล่าวคำใดออกไป มักจะเป็นจริง ตามนั้นเสมอ ท่านพระอาจารย์เสาร์ ได้มอบกาย ถวายชีวิตนี้ ปฏิบัติกิจพระศาสนา ฝากฝังจิตใจ ไว้ในบวรพระพุทธศาสนา ท่านเจริญเดินตามทาง ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ทุกประการ มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นำคณะศรัทธาทั้งหลาย ให้ได้เจริญศีล สมาธิ ปัญญา ให้ได้รู้จักแยกแยะซึ่ง บาป บุญ คุณ โทษ ทั้งหลายทั้งปวง

“กล่าวได้ว่า ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร เป็นพระอาจารย์ ทางด้านวิปัสสนาธุระ รุ่นแรก ที่บุกเบิกชักนำ หมู่คณะ ออกเดินธุดงค์ ด้วยเท้าเปล่า ไปตามป่า ตามภูเขา ทางภาคอีสาน หลีกลี้หนีความพลุกพล่าน วุ่นวาย เที่ยวแสวงหา ที่วิเวก เพื่อบำเพ็ญเพียร ปฏิบัติธรรม โดยท่านถือปฏิบัติ จนเป็นนิสัย คือ ภายหลังจาก ออกพรรษา ท่านจะพากัน ออกเดินทาง ตามหลังกันเป็นแถว บ่าข้างหนึ่ง สะพายบาตร บ่าข้างหนึ่ง สะพายย่าม แลแบกกลด มือถือกระบอกน้ำ ครองผ้าจีวรสีกรัก (ย้อมด้วยแก่นขนุน) แต่ละย่างก้าว อยู่ในอาการสำรวม เป็นที่น่าแปลกตา แปลกใจ และน่าทึ่งอยู่ไม่น้อย สำหรับผู้คน ในสมัยนั้น ที่พึ่งจะได้ประสบ พบเห็น หมู่คณะพระธุดงค์แบบอย่างนี้ “

ปฏิปทาและวัตรปฏิบัติ ของท่านนั้น ได้ก่อให้เกิดสานุศิษย์ มากมาย ที่ดำเนินรอยตามท่าน เพื่อสืบทอด ธุดงควัตร มาจนกระทั่งบัดนี้