ภูพระบาท ศิลปะร้อยเรียงเป็นตำนาน

1009

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน ครอบคลุมพื้นที่ 3,430 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีชื่อว่า “ป่าเขือน้ำ” บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดระยะทางประมาณ 67 กม. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเปิดบริการเวลา 08.00-16.30 น. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทแห่งนี้ ปรากฏร่องรอยของกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อราว 2,000 – 3,000 ปีมาแล้ว มีการพบภาพเขียนสีมากกว่า 30 แห่ง ยังพบการดัดแปลงโขดหินและเพิงผาธรรมชาติให้กลายเป็นศาสนสถานของผู้คนใน วัฒนธรรมทวารวดี ลพบุรี สืบต่อกันมาจนถึงวัฒนธรรมล้านช้าง ตามลำดับ ซึ่งร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของ มนุษย์ได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ทางกรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ ป่าสงวนจำนวน 3,430 ไร่ จากกรมป่าไม้ โดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 63 เมื่อวันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2524 จากนั้นจึงได้พัฒนาแหล่งจนกลายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทในที่สุด

ภูพระบาทมีลักษณะเป็นโขดหินและเพิงผาที่กระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก เกิดจากการผุพังสลายตัวของหินทราย ซึ่งมีเนื้อหินที่แข็งแกร่งแตกต่างกัน ระหว่างชั้นของหินที่เป็นทรายแท้ๆ ซึ่งมีความแข็งแกร่งมาก กับชั้นที่เป็นทรายปนปูนซึ่งมีความแข็งแกร่งน้อยกว่า นานๆ ไปจึงเกิดเป็นโขดหิน และเพิงผารูปร่างแปลกๆ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ ๒,๐๐๐ – ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว วิถีชีวิตของผู้คน ในสมัยนั้นดำรงชีวิตด้วยการเก็บของป่า และล่าสัตว์เป็นอาหาร เมื่อขึ้นมาพักค้างแรม อยู่บนโขดหินและเพิงผาธรรมชาติเหล่านี้ก็ได้ใช้เวลาว่างขีดเขียนภาพต่างๆ เช่น ภาพคน ภาพสัตว์ ภาพฝ่ามือ ตลอดจนภาพลายเส้นสัญลักษณ์ต่างๆไว้บนผนังเพิงผาที่ใช้พักอาศัย ซึ่งปรากฏอยู่ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นจำนวนมาก เช่น ที่ถ้ำวัว – ถ้ำคน และภาพเขียนสีโนนสาวเอ้ ซึ่งภาพเขียนสีบนผนังหินเหล่านี้ยังคงเป็นปริศนาให้ผู้คนในชั้นหลังค้นหาความหมายที่แท้จริงต่อไป

ธรรมชาติสร้างจินตนาการ ก่อเกิดตำนานรักอุษา-บารส
พระยาพานผู้ครองเมืองพาน ได้นำธิดาแสนสวยชื่อ “นางอุษา” ไปฝากไว้กับฤาษี ในบริเวณป่าแถวภูพาน เพื่อให้นางอุษาได้ร่ำเรียนวิชา โดยสร้างหอคอยให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวลำพังคนเดียว ซึ่งต่อมาชาวบ้านเรียกว่า หอนางอุษา มีลักษณะเป็นเพิงหินรูปคล้ายดอกเห็ด ขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 7 เมตร ตรงผนังหินด้านทิศเหนือของก้อนหินก้อนล่างมีภาพเขียนสีเป็นลายเส้นสีแดง 2-3 เส้น ต่อมานางอุษาได้ร้อยดอกไม้เป็นรูปหงส์ พร้อมข้อความแสวงหาความรักลงในกลีบดอกไม้ อธิษฐานว่าใครที่จะเป็นคู่ครองของนาง ขอให้เก็บพวงมาลัยพวงนี้ได้และขอให้ได้พบกัน แล้วนำไปลอยน้ำ ปรากฏว่า “ท้าวบารส” โอรสแห่งเมืองพระโค เป็นผู้เก็บได้และนึกรักใคร่นางอุษาทันที ได้ออกเดินทางรอนแรมไปตามป่าเขากับม้าคู่ใจ จนไปถึงที่อยู่ของนางอุษา ได้ผูกม้าไว้ที่เพิงหิน ซึ่งเรียกว่า คอกม้าท้าวบารส (มีภาพเขียนสีอยู่บนเพิงหินด้านทิศเหนือ) เมื่อทั้งสองได้พบกัน ความรักก็เกิดขึ้น แต่เมื่อพระยาพานทราบข่าวก็โกรธมาก ได้ท้าพนันสร้างวัดแข่งกัน ภายในเวลาดาวประกายพรึกขึ้น หากฝ่ายใดสร้างเสร็จไม่ทันก็จะถูกตัดศีรษะ ฝ่ายท้าวบารสซึ่งมีแรงงานน้อยกว่า ได้คิดอุบายนำเทียนจุดสว่างไปตั้งอยู่บนปลายไม้เหนือยอดเขาฝ่ายพระยาพานเข้าใจผิดคิดว่าดาวประกายพรึกขึ้น จึงพากันหยุดสร้างขณะเดียวกันฝ่ายท้าวบารสก็เร่งสร้างจนเสร็จ เช้าขึ้นพอรู้ว่าวัดที่ตนเองสร้างไม่เสร็จ พระยาพานจึงถูกตัดศีรษะตามสัญญาแต่พระยาพานก็สามารถฟื้นขึ้นมาใหม่ได้และเกิดการสู้รบกัน ท้าวบารสได้สังหารพระยาพาน นางอุษาเศร้าโศกเสียใจมาก ที่ท้าวบารสฆ่าพ่อของตนเอง และเมื่อกลับไปเมืองพะโค ก็ถูกพระมเหสีทั้ง 10 ของท้าวบารสรังแกและออกอุบายให้ท้าวบารส ออกไปสะเดาะเคราะห์ในป่าเป็นเวลา 1 ปี นางอุษาจึงหนีกลับไปที่หอนางอุษาด้วยความรู้สึกผิดหวังในความรักเกิดล้มป่วยเพราะตรอมใจ กระทั่งเสียชีวิตไป ฝ่ายท้าวบารสทราบข่าวก็รีบมาหา เห็นนางอุษาสิ้นชีวิตไป ก็ตรอมใจสิ้นตามนางไปอีกคน

การเดินทางเริ่มต้นจากอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี