ไหว้พระบึงกาฬ จังหวัดน่าเที่ยว อีสานตอนบน

1452

บึงกาฬ จังหวัดริมโขงอีสานเหนือที่แยกตัวออกจากจังหวัดหนองคาย เนื่องจากความยาวเรียบริมแม่น้ำโขง ทำให้มีการบริหารจัดการได้ค่อนข้างยาก สำหรับเสน่ห์ของบึงกาฬในช่วงที่ผ่านมาเป็นจังหวัดที่มีความงดงามของสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องของพญานาคา หลวงปู่อือลือและถ้ำนาคา สำหรับวัดที่ไม่ควรพลาดในจังหวัดบึงกาฬ มีวัดอะไรบ้าง ไปดูกันครับ

หลวงพ่อพระใหญ่ วัดโพธาราม

หลวงพ่อพระใหญ่อันประดิษฐาน ณ ที่วัดโพธารามแห่งนี้ นับเป็นหลวงพ่อคู่บ้านคู่เมืองของชาวบึงกาฬมาแต่ช้านาน หลวงพ่อพระใหญ่ วัดโพธารามตั้งอยู่ที่วัดโพธาราม บ้านท่าใคร้ ต.บึงกาฬ อ.เมือง จ.บึงกาฬ

เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยโบกฉาบด้วยปูน สูงประมาณ 2 เมตรหน้าตักกว้าง 2 เมตรจากพระฌานุ(เข่า) ถึงพระศอ (คอ) สูง 0.90 เมตร พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนหน้าตัก พระหัตถ์ขวาคว่ำวางทับพระฌานุ นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 5 เหยียดลงอย่างมีระเบียบเหมือนพระพุทธรูปทั่ว ๆ ไปประดิษฐานบนแท่น 4 เหลี่ยม ซึ่งได้บูรณะขึ้นใหม่ในปี 2537 นี้ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองบึงกาฬที่ตั้งโบราณ ชาวบึงกาฬจัดงานสมโภชช่วงวันเพ็ญเดือน 3 และช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตามตำนานและคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่หลายรุ่น หลายสมัยเล่าสืบต่อกันมาประมาณสองพันกว่าปีมาแล้ว จนถึงยุคสมัยหลัง ๆ ซึ่งแต่ก่อนคนเหล่านี้ส่วนมากได้อพยพครอบครัวมาจากเมืองยศ ซึ่งในปัจจุบันก็คือจังหวัดยโสธร มาตั้งถิ่นฐานริมฝั่งแม่น้ำโขงและร่นขึ้นมาทางเขตชัยบุรี หรืออำเภอบึงกาฬในปัจจุบัน

การตั้งถิ่นฐานอยู่นั้นก็เหมือนกันทุกยุคทุกสมัย คือที่ใดไม่เหมาะสมในการดำรงชีวิต ต้องประสบกับภัย และมีการระบาดของโรคร้ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคอหิวา โรคไข้ฝีดาด ถูกรบกวนจากสัตว์ร้ายหรือภูตผีปีศาจต่าง ๆ ก็พากันหลบหนีภัยย้ายถิ่นฐานไปเรื่อย ๆ เพื่อหาที่เหมาะสมต่อไป ชนกลุ่มนี้ก็เหมือนกันย้ายถิ่นฐานไปเรื่อย ๆ เพื่อหาที่เหมาะสม จนถึงบ้านท่าใคร้ในปัจจุบัน เมื่อเห็นเป็นที่เหมาะสมดีก็ตกลงใจกันตั้งหลักฐานที่จะหากินในบริเวณนี้จากนั้นต่างก็จับจองพื้นที่หากินแล้วเริ่มขยายอาณาบริเวณไปเรื่อย ๆ จนถึงบริเวณที่รกทึบที่สุดเป็นป่าดงดิบ มีไม้นานาพันธุ์ เช่น ไม้ยาง ไม้ตะแบก ไม้สัก ไม้ไผ่ป่า ขี้นอยู่อย่างหนาแน่นและเต็มไปด้วยสัตว์ป่าหลายชนิด ที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าว เนื่องจากเป็นป่ารกทึบมากชาวบ้านที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่รอบ ๆ จึงได้ร่วมกันในการถากถางเพื่อจะได้มีพื้นที่มากขึ้น หลังจากที่ได้ทำการถากถางอยู่เป็นเวลาหลายวันก็พบพุ่มไม้ที่สูงและหนากว่าที่อื่น ๆ เมื่อถางป่าดังกล่าวออกก็พบพระพุทธรูปเดิมที่เต็มไปด้วยเถาวัลย์พันรอบองค์อยู่ จึงได้นำเถาวัลย์ออก แล้วปัดกวาดบริเวณรอบ ๆ ก็พบว่าพระเกตุมาลาของหลวงพ่อหักเพราะถูกช้างป่ากระชากเถาวัลย์ลงมาเพื่อหากินตามธรรมชาติของสัตว์ป่า และเห็นเป็นรูปร่างของสถานที่บำเพ็ญบุญ หรือสถานที่ประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนา อีกทั้งยังพบซากเครื่องปั้นดินเผา โอ่งโบราณ รวมทั้งเครื่องใช้อีกหลายอย่างองค์พระพุทธรูปนั้นตั้งแต่ได้พบมาถึงปัจจุบัน ไม่เคยเคลื่อนย้ายหรือ ต่อเติมแต่อย่างใด เพียงแต่ต่อพระเกตุที่หักให้คงสภาพเดิม มีเพียงแท่นที่ประดิษฐานเท่านั้นที่สร้างโอบแท่นเดิม เพื่อให้มีความมั่นคงขึ้นยิ่งกว่าเดิม และมีผู้ที่มาขอพรจากหลวงพ่อเมื่อได้สมความปรารถนาแล้วก็ได้นำสีทองมาทาสมโภชหลวงพ่อ จึงทำให้องค์หลวงพ่อเหลืองอร่ามเป็นสีทองทั้งองค์

แก่งอาฮง วัดอาฮงศิลาวาส

ไหว้พระบึงกาฬ ที่ วัดอาฮงศิลาวาส เป็นวัดเก่าแก่ ไม่ปรากฎหลักฐานว่าเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อใด มีแต่เพียงคำบอกเล่าของชาวบ้านละแวกนั้นว่า เดิมเป็นสำนักสงฆ์ และตั้งอยู่ในป่ารกทึบ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “วัดป่า” โดยหลวงพ่อลุน เป็นผู้ก่อตั้ง และมรณะไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ด้วยโรคชรา

หลังจากนั้นไม่มีพระสงฆ์มาพำนักหรือจำพรรษาอีกเลย มีเพียงพระธุดงค์ที่ผ่านมาพำนักเท่านั้น แต่มีแม่ชีสูงอายุท่านหนึ่ง เฝ้ารักษาดูแล จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๗ พระนิเทศศาสนคุณ (หลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ) เจ้าอาวาสวัดบุญเรืองสุวรรณาราม บ้านคำโป้งเป้ง ต.ค่ายบกหวาน อ. เมือง จ. หนองคาย ได้เดินทางไปกราบนมัสการพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ วัดเจติยาวิหาร (ภูทอก) ขากลับเห็นป้ายชื่อวัดจึงได้แวะเข้ามา พบเพียงแม่ชี ไม่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา ท่านจึงได้ซักถามถึงประวัติความเป็นมา แม่ชีได้เล่าถวายโดยละเอียด หลวงพ่อได้เดินตรวจสภาพวัด พบว่ามีความสงบ เหมาะแก่การเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ จากนั้นหลวงพ่อและคณะเดินทางกลับมาเชิญชาวบ้านอาฮงประชุมปรึกษาแจ้งเรื่องการบูรณะวัด ชาวบ้านต่างอนุโมทนาบุญกับหลวงพ่อร่วมกันปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม สร้างศาลาการเปรียญ กุฎิ และสิ่งอำนวยความสะดวก ที่มีความจำเป็น และจัดภิกษุสามเณรให้อยู่จำพรรษา โดยมีหลวงพ่อเมธา จิตฺกาคุตโตเป็นเจ้าอาวาส และตั้งชื่อใหม่ว่า “วัดอาฮงศิลาวาส” หลวงพ่อสมานได้สร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นพุทธบูชา ขนาดหน้า ตักกว้าง ๔ เมตร สูง ๗ เมตร น้ำหนัก ๒๐ ตัน นามว่า “พระพุทธคุวานันท์ศาสดา” ซึ่งมีความงดงามเป็นพระพุทธรูปลักษณะเดียวกับพระพุทธชินราช หล่อด้วยทองเหลือง มีการนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ จำนวน ๑๐๙ รูป ประกอบพิธีพุทธาภิเษกเบิกเนตร เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๒

ปัจจุบัน วัดอาฮงศิลาวาส เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดบึงกาฬ ที่มีผู้แวะเวียนเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เป็นที่พักกายพิงใจ และเป็นอุทยานการศึกษา

วัดสว่างอารมณ์ วัดถ้ำศรีธน

มีเนื้อที่ 40 ไร่ มีประวัติความเป็นมาเล่าว่า เดิมบริเวณนี้เป็นที่อยู่ของชาวบ้านปากคาด ซึ่งอพยพมาจากบ้านปากกล้วย แขวงเมืองปากซัน สปป. ลาว และเมื่อก่อนยังเป็นป่าดงดิบรกทึบเต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด

ซึ่งในแต่ละปีจะมีพระภิกษุธุดงค์มาอยู่เป็นประจำ เพราะเป็นสถานที่เงียบสงบ เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม ต่อมาพระอธิการ ดอน อินทสาโร หรือหลวงปู่ด่อน ซึ่งเป็นพระที่ชาวบ้านปากคาดเคารพนับถือได้สร้างวัดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาและเจริญยิ่งขึ้นตามลำดับจนถึงปัจจุบัน เหตุที่เรียกกันอีกชื่อว่า “วัดศรีธน” นั้น สันนิษฐานว่า อาจจะเป็นเพราะว่าวัดแห่งนี้อยู่ใกล้กับเมืองเป็งจานนครราช ซึ่งเป็นเมืองของท้าวศรีธน ตั้งอยู่บริเวณลานหิน เนินเขาร่มรื่นด้วยต้นไม้และลำธารเล็ก ๆ ไหลผ่านบริเวณใต้โขดหินใหญ่ ภายในวัดประดิษฐานพระนอน ส่วนบนโขดหินมีอุโบสถทรงระฆังคว่ำ หากขึ้นไปถึงด้านบนสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ไกลจนถึงฝั่งลาว

ไหว้พระบึงกาฬ ภูทอก วัดเจติยาคีรีวิหาร

ภูทอก ภาษาอีสานแปลว่า ภูเขาที่โดดเดี่ยว อยู่ในเขตบ้านคำแคน ตำบลนาสะแบง เป็นภูเขาหินทรายมองเห็นได้แต่ไกล ประกอบด้วยภูทอกใหญ่ และภูทอกน้อย แต่ก่อนบริเวณนี้เคยเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย

พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ ได้เข้ามาจัดตั้งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม เนื่องจากเป็นสถานที่เงียบสงบมาก ภูทอกน้อยเป็นที่ตั้งของวัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการเดินเท้าขึ้นสู่ยอดภูทอก โดยต้องเดินไปตามสะพานไม้เวียนรอบเขาสูงชันจนถึงยอด สะพานไม้สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาของพระ เณร และชาวบ้าน เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2512 ใช้เวลานานถึง 5 ปี บันไดที่ขึ้นสู่ยอดภูทอกนี้เปรียบเสมือนเส้นทางธรรมที่น้อมนำสัตบุรุษให้พ้นโลกแห่งโลกียะสู่โลกแห่งโลกุตระ หรือโลกแห่งการหลุดพ้นด้วยความเพียรพยายามและมุ่งมั่น ภูทอกยังคงเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและปฏิบัติศาสนกิจของชุมชน บันไดขึ้นภูทอกแบ่งออกเป็น 7 ชั้น ไฮไลต์จะอยู่ที่ชั้น 5 ภูทอกน้อย

วัดศรีโสภณธรรมทาน ไหว้พระพุทธโสภณมงคลใต้

วัดศรีโสภณธรรมทาน เที่ยววัดเก่า ไหว้พระพุทธรูปเก่าแก่สมัยล้านช้าง กราบขอพรหลวงพ่อเมฆ วัดศรีโสภณธรรมทาน หรือวัดใต้ ตั้งอยู่เลขที่ 30 บ้านศรีโสภณ ถนนมีชัย หมู่ที่ 2 ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย

ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 6 ไร่ อาคารเสนาสนะประกอบด้วยอุโบสถ ศาลาการเปรียญ สร้าง พ.ศ. 2525 เป็นอาคารทรงไทยชั้นครึ่งสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กและไม้เนื้อแข็ง กุกิสงฆ์ หอระฆัง วัดศรีโสภณธรรมทาน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2328 เดิมชื่อว่าวัดศรีบุญเรือง เพราะผู้ริเริ่มสร้างวัดชื่อบุญเรือง ต่อมา พ.ศ. 2486 ได้เปลี่ยนเป็นชื่อวัดเป็นวัดศรีโสภณธรรมทาน ชาวบ้านเรียกว่าวัดใต้ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 ปัจจุบันมีพระมานพ เตชปญฺโญเป็นเจ้าอาวาส นอกจากเป็นวัดศูนย์กลางของพุทธศาสนิกชนได้มาปฏิบัติธรรม ทำบุญและกิจกรรมทางศาสนาของชาวบึงกาฬแล้ว ภายในวัดยังมีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม เปิดสอนตั้งแต่ พ.ศ. 2500 อีกด้วยค่ะ สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด พระพุทธโสภณมงคลใต้ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่สมัยล้านช้าง ปางมารวิชัยเนื้อทองสำริดที่มีพุทธลักษณะงดงาม(ลักษณะเดียวกับหลวงพ่อพระใสพระคู่บ้านคู่เมืองหนองคาย) ชาวบ้านต่างเรียกขานท่านว่า “พระสุก” ที่มาจากความผาสุก มีความเชื่อว่าหากใครได้มากราบไหว้ จะอยู่เย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงานและมีโชคลา พระพุทธรูปโลหะสมัยล้านช้าง 3 องค์ ประดิษฐานอยู่ในบุษบก(พระสุกอยู่ด้านหน้านอกบุษบก) ซึ่งต่างมีพุทธลักษณะงดงามเทียบเคียงกัน รูปปั้น หลวงพ่อเมฆ (อดีตเจ้าคณะอำเภอบึงกาฬ)เป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านนิยมขอพร ให้อยู่เย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน มีโชคลาภ ใช้ดอกไม้ ธูป เทียน และพวงมาลัย ในการกราบขอพร