ทริปทำเวลา ไหว้พระ 9 วัด จบในวันเดียวในเมืองหนองคาย

1095

หนองคายเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรืองสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาอย่างช้านาน และ นอกเหนือจากแรงศรัทธา ของ พญานาค วัดวาอารามของ หนองคาย ก็ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อยากให้มาเคารพสักการะกันสักครั้งในชีวิต จะปิดท้ายด้วย อาหารอร่อย สักมื้อ สองมื้อ ก็ถือเป็นวันที่ยอดเยี่ยมได้อีกวันเลย ไม่ว่าจะเป็นอาหารเวียดนามขึ้นชื่อ หรือ เมนูปลาน้ำโขงรสเลิศ สำหรับทริปในการไหว้พระ เรามี 9 วัดที่สะดวกในการเดินทาง และ ใช้เวลาไม่นานก็ครบทุกวัดแล้ว มาเสนอดังนี้ครับ

1.ศูนย์รวมศรัทธาชาวหนองคาย หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย

หลวงพ่อพระใส เป็นศูนย์รวมใจของลูกหลานชาวหนองคาย ตั้งแต่โบราณนานมา ไม่แปลกที่ในวันเทศกาลสงกรานต์ในแต่ละปี จะมีผู้คนแห่กันมาร่วมสงน้ำหลวงพ่อ นั้นคือพรอันประเสริฐที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวในการเริ่มต้นใช้ชีวิตกับวันปีใหม่แบบไทยๆ ที่ดีเลยทีเดียวครับ ลองมาดูสักครั้งจะติดใจ

หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย จ.หนองคาย เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่เมือง ประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย ซึ่งมีฐานะเป็นวัดอารามหลวง ตั้งอยู่ที่ถนนโพธิ์ชัย ในเขตเทศบาลเมือง ห่างจากตัวเมืองหนองคายไปประมาณ 2 กิโลเมตร ตามทาง หลวงหมายเลข 212 ทางไป อ.โพนพิสัย วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสีสุก หน้าตักกว้าง 2 คืบ 8 นิ้ว ส่วนสูงจากพระชงฆ์เบื้อล่างถึงยอดพระเกศ ๔ คืบ ๑ นิ้วของช่างไม้

ประวัติการสร้าง
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ในหนังสือประวัติพระพุทธรูปสำคัญ ซึ่งพิมพ์แจกในงานทอดกฐินพระราชทาน พ.ศ. 2468 ว่า หลวงพ่อพระใส เป็นพระพุทธรูปหล่อในสมัยล้านช้าง และตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่า พระธิดา 3 องค์ แห่งกษัตริย์ล้านช้างเป็นผู้สร้าง บางท่านก็ว่าเป็นพระราชธิดาของพระไชยเชษฐาธิราช ได้หล่อพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์ และขนานนาม พระพุทธรูปตามนามของตนเองไว้ด้วยว่า พระเสริมประจำพี่ใหญ่ พระสุกประจำคนกลาง พระใสประจำน้องสุดท้อง มีขนาดลดหลั่นกันตามลำดับ

การประดิษฐาน
เดิมทีนั้นหลวงพ่อพระใสได้ประดิษฐาน ณ เมืองเวียงจันทน์ พ.ศ. ๒๓๒๑ สมัยกรุงธนบุรีได้อัญเชิญไปไว้ที่เมืองเวียงคำ และถูกเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดโพนชัย เมืองเวียงจันทน์อีก ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ เจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันทน์เป็นกบฎ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพย์ เป็นจอมทัพยกพลมาปราบ จึงได้อัญเชิญพระสุก พระเสริม และพระใส ลงมาด้วย โดยอัญเชิญมาจากภูเขาควายขึ้นประดิษฐานบนแพไม้ไผ่ ซึ่งผูกติดกันอย่างมั่นคงล่องมาตามลำน้ำงึม เมื่อล่องมาถึงตรงบ้านเวินแท่นในขณะนั้น เกิดอัศจรรย์แท่นของพระสุกได้เกิดแหกแพจมลงไปในน้ำ โดยเหตุที่มีพายุพัดแรงจัด และบริเวณนั้นได้นามว่า “เวินแท่น”

การล่องแพก็ยังล่องมาตามลำดับจนถึงน้ำโขง (ปากน้ำงึม) เฉียงกับบ้านหนองกุ้ง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ได้เกิดพายุใหญ่ เสียงฟ้าคำรามคะนองร้องลั่น ในที่สุดพระสุกได้แหกแพจมลงไปในน้ำ ซึ่งอาการวิปริตต่างๆ ก็ได้หายไปเป็นอัศจรรย์ยิ่ง บริเวณนั้นจึงได้ชื่อว่า “เวินสุก” และพระสุกก็จมอยู่ในน้ำตรงนั้นมาจนถึงปัจจุบันนี้

ก็ยังเหลือแต่พระเสริม พระใส ที่ได้นำขึ้นมาถึงเมืองหนองคาย พระเสริมนั้นได้ถูกอัญเชิญประดิษฐานไว้ ณ วัดโพธิ์ชัย ส่วนพระใส ได้อัญเชิญประดิษฐานไว้ ณ วัดหอก่อง (ปัจจุบันคือวัดประดิษฐ์ธรรมคุณ)

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุนวรธานีและเจ้าเหม็น (ข้าหลวง) อัญเชิญพระเสริม จากวัดโพธิ์ชัย หนองคายไปกรุงเทพฯ และอัญเชิญพระใสจากวัดหอก่องขึ้นประดิษฐานบนเกวียนจะอัญเชิญลงไปกรุงเทพฯ ด้วย แต่พอมาถึงวัดโพธื์ชัย หลวงพ่อพระใสได้แสดงปาฏิหาริย์จนเกวียนหักจึงอัญเชิญลงไปไม่ได้ ได้แต่พระเสริมลงกรุงเทพฯ ประดิษฐาน ณ วัดปทุมวนาราม ส่วนหลวงพ่อพระใสได้อัญเชิญประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ชัย อ.เมืองหนองคาย จนถึงปัจจุบัน ความอัศจรรย์ของหลวงพ่อพระใสจนได้สมญาว่า “หลวงพ่อเกวียนหัก”

2.หลวงพ่อมณีเชษฐา รวมศรัทธาชาวจอมมณี วัดจอมมณี 

เมื่อก่อนนั้น หนองคายมีชื่อเสียงเรื่องหาดริมโขง ที่ทุกฤดูร้อน ใครๆ ก็พากันมาเที่ยวหาดจอมมณี การกินปลาเผา ส้มตำ พร้อมเล่นน้ำริมโขงเย็นๆ มันเป็นช่วงเวลาที่ดีและมีความสุขที่สุดในวัยเด็ก ของใครหลายๆ คน

แต่หลายๆ คนก็คงจะไม่ลืมว่า ทางลงหาดนั้นมีวัดที่มีหลวงพ่อที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่คอยดูแล ปัดเป่าทุกภัยให้ชาวบ้านอยู่เสมอ วัดจอมมณี ตั้งอยู่หมู่บ้านจอมมณี หมู่ที่ ๑ ตำบลมีชัย อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ติดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เดิมชื่อว่า วัดมณีเชษฐา ตามหลักศิลาจารึก ซึ่งมีรายชื่อในบัญชีสำรวจของหอสมุดวชิรญาณฯ กรมศิลปากร พิมพ์รวมอยู่ในประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๖๗ เป็นพระบรมราชโองการ พระเจ้าไชยเชษฐิราช และพระอัครมเหสีเจ้าจอมมณี ให้พระยานคร พระยาแสนสุรินทร์คว่างฟ้า จารย์จัน ท้าวพระยาคำสิงห์ พระชายาสายพิณ และขุนนางผู้ใหญ่สร้างวัดมณีเชษฐาราม เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๔ ปีเถาะ ปีรับเหมา  พ.ศ. ๒๐๙๘ รวมอายุการสร้างวัดนับถึงปัจจุบัน ๔๕๖ ปี จากหลักศิลาจารึกในเขตอุโบสถวัดจอมมณี พระนางจอมมณีซึ่งเป็นพระราชมารดาของพระราชธิดาสุก เสริม ใส ทั้งสามพระองค์ ผู้สร้างองค์หลวงพ่อพระสุก พระเสริม พระใส วัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง จังหวัดหนองคาย เป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ ดังนั้นพระนางจอมมณีพร้อมด้วยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช จึงได้ทรงสร้างวัดจอมมณีและองค์หลวงพ่อมณีเชษฐาไว้เป็นอนุสรณ์ประจำพระองค์

3. ศรัทธาแก้วสารพัดนึก วัดลำดวน หนองคาย

“วัดลำดวน” อีกสถานที่แห่งศรัทธา ด้วยมี “เจดีย์ศรีสารพัดนึก” ให้ผู้คนได้เข้าไปกราบไหว้สักการะ และใกล้ๆกันนั้นยังมี “วิหารหลวงพ่อศิลาคำ” ที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อศิลาคำ” พระพุทธรูปเก่าแก่อายุกว่า 400 ปี

เจดีย์ศรีสารพัดนึก” สร้างด้วยอิฐถือปูน ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมสิบสอง ลักษณะทรงระฆังคว่ำ ประเมินกันว่าน่าจะมีอายุไม่น้อยกว่า 200 ปีล่วงมาแล้ว
ราวปี 2554 ก็มีเรื่องเล่าต่อๆกันมาจากพระผู้เดินบิณฑบาตยามใกล้รุ่งเช้าก็ได้พบเห็นลูกแก้วสีสดใสจากกลางแม่น้ำโขงลอยเข้ามาที่เจดีย์แห่งนี้เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้แล้วยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “โจร” ที่แอบมาขโมยของภายในเจดีย์แต่ก็ไม่ได้อะไรติดมือไปแม้แต่ชิ้นเดียว เพราะเห็นงูปรากฏขึ้นมาก็เลยกลัวพากันวิ่งหนีไปแบบไม่คิดชีวิต
และให้นึกถึงต่อไปในเรื่องของความลี้ลับ ปาฏิหาริย์ อัศจรรย์ พลังเหนือธรรมชาติ ผู้ใดก็ตามที่อยากสำเร็จสมหวังดังใจนึกก็คงต้องไปขอกับแก้วสารพัดนึก…เมื่อบวกกับความเพียร ตั้งมั่นที่อยู่ในตัวแล้วนั้นก็ไม่แน่ว่าความสำเร็จจักอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมเป็นแน่แท้

สิริมงคลใกล้ตัว…ความเชื่อ ความศรัทธาอยู่ที่ตัวเรา เปิดใจให้กว้างรับฟัง เสียงศรัทธาของผู้คนในแต่ละพื้นที่อาจมีทั้งเหมือนหรือแตกต่าง เมื่อได้มาเยือนวัดลำดวนแห่งนี้แล้วก็ต้องไม่พลาดที่จะขึ้นไปกราบสักการะ “หลวงพ่อพระบุญคุ้ม” หรือที่ชาวคุ้มวัดลำดวนเรียกว่า “หลวงพ่อใหญ่”

องค์พระตั้งตระหง่านหันหน้าไปยังฝั่งสปป.ลาว ที่มาที่ไปความหมายของชื่อไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อนเพราะมาจากขนาดของหลวงพ่อที่มีขนาดใหญ่มาก สร้างขึ้นด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดหน้าตัก 9 เมตร ประดิษฐานอยู่บนหลังคาอุโบสถ มีความสูงจากพื้นดิน 13 เมตร การขึ้นไปนมัสการต้องขึ้นบันไดไปอย่างมุ่งมั่น

ชั้นแรก จะเป็นส่วนของอุโบสถ ส่วนชั้นที่สอง ชั้นบนสุดเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อ พระบุญคุ้มบริเวณนี้นับเป็นจุดชมวิวแบบรอบตัว 360 องศา เห็นแม่น้ำโขง เมืองหนองคายได้อย่างชัดเจน

4.ไหว้หลวงพ่อพระสุก วัดศรีคุณเมือง พระพุทธรูป สำคัญอีกหนึ่งองค์ในหนองคาย 

ตั้งอยูที่ถนนมีชัย ในเมืองหนองคาย เดิมชื่อว่า วัดป่าขาว ภายในวัดมีเจดีย์อันเก่าแก่ ภายในพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อพระสุก (จำลอง)

เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านช้าง กว้าง 91 เซนติเมตร สูง 114 เซนติเมตร สร้างในพุทธศตวรรษที่ 24 หลวงพ่อพระสุกองค์จริง สร้างพร้อมกับ หลวงพ่อพระใส และหลวงพ่อพระเสริม ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งล้านช้าง พ.ศ. 2093 โดยพระธิดาสุก,เสริม และใส ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์ได้ก่อกบฏ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงส่งกองทัพไปปราบ และได้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้ง 3 ไปยังฝั่งไทยด้วยแพ แต่เมื่อมาถึงปากน้ำงึม เกิดพายุใหญ่ แท่นพระสุกจึงจมลงไปในแม่น้ำโขงเหลือแต่องค์พระสุกเท่านั้น แต่ต่อมา เมื่อพ้นปากน้ำงึมพระสุกได้แหกแพจมลงไปในแม่น้ำโขง บริเวณนั้น เรียกว่า เวินสุก ซึ่งตรงกับอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย เมื่อถึงฝั่งแล้ว จึงอัญเชิญพระใสไปวัดโพธิ์ชัย จ.หนองคาย ส่วนพระเสริมอัญเชิญไป วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ในปี พ.ศ. 2420 พระอาจารย์สีทัตถ์ สุวรรณมาโจ อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีคุณเมืองได้รวบรวมปัจจัยชาวหนองคายหล่อหลวงพ่อพระสุกจำลอง ทำพิธีอัญเชิญหลวงพ่อพระสุกมาสถิต กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุ เมื่อ พ.ศ. 2534 ในวันสงกรานต์ ของทุกปี จะอัญเชิญออกมา ให้ประชนสรงน้ำ

5. พระธาตุหล้าหนอง วัดกลางแม่น้ำโขง

พระธาตุหนองคาย หรือ พระธาตุกลางน้ำ เดิมชื่อพระธาตุหล้าหนอง เป็นพระธาตุที่หักพังอยู่กลางลำน้ำโขง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุฝ่าพระบาทเก้าพระองค์ตามตำนานอุรังคธาตุ หรือตำนานพระธาตุพนม จากการสำรวจใต้น้ำของหน่วยโบราณคดีภาค 7 พบว่าองค์พระธาตุมีฐานกว้างด้านละ 17.2 เมตร ย่อมุมที่ฐาน และมีความสูงประมาณ 28.5 เมตร หักออกเป็น 3 ท่อน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 20–22 เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายพระธาตุบังพวนในหนังสืออุรังคธาตุ หรือตำนานพระธาตุพนม ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงการสร้างพระธาตุหล้าหนองว่า พระธาตุองค์นี้ สร้างโดยพระอรหันต์ 5 องค์ ประกอบด้วย พระมหารัตนเถระ, พระจุลรัตนเถระ, พระมหาสุวรรณปราสาทเถระ, พระจุลสุวรรณปราสาทเถระ และพระสังฆวิชัยเถระ ที่ล้วนเป็นศิษย์พระพุทธรักขิต พระธรรมรักขิต พระสังฆรักขิต พระอรหันต์ทั้ง 3 องค์ พระอรหันต์ทั้ง 5 ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า จากประเทศอินเดียมาพร้อมกันและได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้พร้อมกัน 6 แห่งปัจจุบันองค์พระธาตุจมอยู่กลางแม่น้ำโขงห่างจากฝั่งไทย 180 เมตร องค์พระธาตุก่อด้วยอิฐถือปูน ล้มตะแคงไปตามกระแสน้ำ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีฐานเหลี่ยมมุมฉาก โดยด้านหนึ่งโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเพียงครึ่งฐาน องค์พระธาตุมีรูปทรงทางสถาปัตยกรรมเท่าที่ยังเหลืออยู่เป็นชั้นฐานเขียง 2 ชั้น ฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็จต่อขึ้นมาอีก 4 ชั้น จึงเป็นเรือนธาตุ ต่อด้วยบัวลูกแก้วอีก 2 ชั้น ความสูงของเจดีย์เฉพาะส่วนที่สัมผัสได้ 12.20 เมตร ความกว้างของฐานองค์พระธาตุชั้นล่างสุด 15.80 เมตร

พระธาตุหล้าหนอง เป็นที่เคารพสักการะของชาวหนองคาย และชาวบ้านได้จัดงานประเพณีเกี่ยวกับพระธาตุในทุกปี คือประเพณีบุญบั้งไฟ เดือน 6 เพื่อจุดถวายองค์พระธาตุ ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พิธีบวงสรวงองค์พระธาตุ วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ถวายปราสาทผึ้ง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 และการแข่งเรือยาววันออกพรรษาทุกปี เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา การที่องค์พระธาตุจมลงไปในแม่น้ำโขง ทำให้ชาวหนองคายต้องการบำรุงรักษาพุทธสถานแห่งนี้ไว้ จึงร่วมกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ การสร้างองค์พระธาตุหล้าหนองจำลองขึ้น แล้วบรรจุชิ้นส่วนพระธาตุองค์จริงเข้าไว้ข้างใน และปรับปรุงสภาพแวดล้อมริมฝั่งแม่น้ำโขงขึ้น โดยขนาดพระธาตุองค์จำลอง ฐานกว้าง 10×10 เมตร ความสูงประมาณ 15 เมตร พร้อมทั้งการเสริมสร้างเสถียรภาพตลิ่งและป้องกันการกัดเซาะตลิ่งตลอดความยาว 194 เมตร