10 วัด ไหว้พระรับพร ที่ อุดรธานี เมืองเกจิแดนอีสาน

1446

1.วัดโพธิสมภรณ์ ไหว้หลวงพ่อพระพุทธรัศมี พร้อมสิ่งๆ ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆในวัด

วัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

ตั้งอยู่บนถนนเพาะนิยม เลขที่ 22 ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี อยู่ทางทิศตะวันตกของหนองประจักษ์ มีเนื้อที่ทั้งหมด 40 ไร่ ปัจจุบันมี พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป) เป็นเจ้าอาวาส

ในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ วัดโพธิสมภรณ์ เป็น พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ วัดโพธิสมภรณ์ เริ่มสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2449 ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดย มหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร ได้พิจารณาเห็นว่าในเขตเทศบาลเมืองอุดรธานี มีเพียง “วัดมัชฌิมาวาส” วัดเดียวเท่านั้น สมควรที่จะสร้างวัดขึ้นอีกสักวัดหนึ่ง จึงได้ไปสำรวจดูสถานที่ทางด้านทิศใต้ของ “หนองนาเกลือ” ซึ่งเป็นหนองน้ำกว้างใหญ่อุดมไปด้วยเกลือสินเธาว์ มีปลาและจระเข้ชุกชุม (ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หนองประจักษ์” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้ก่อตั้งเมืองอุดรธานี) เห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะสมควรแก่การสร้างวัดได้เพราะเป็นที่ราบป่าละเมาะเงียบสงบดี ไม่ใกล้ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนักและอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เมื่อตกลงใจเลือกสถานที่ได้แล้ว มหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) ก็ได้ชักชวนและนำพาราษฎรในหมู่บ้านหมากแข้งมาร่วมกันถากถางป่าจนพอควรแก่การปลูกกุฏิ ศาลาโรงธรรม สำหรับใช้เป็นที่บำเพ็ญบุญ และเป็นที่ประกอบพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาประจำปีของหน่วยราชการ ใช้เวลาสร้างอยู่ประมาณ 1 ปี ในระยะแรกชาวบ้านเรียกว่า “วัดใหม่” เพราะแต่เดิมมีเพียงวัดมัชฌิมาวาสซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “วัดเก่า” ด้วยพบร่องรอยเป็นวัดร้างมาก่อน มีเจดีย์ศิลาแลงเก่าแก่และพระพุทธรูปหินขาวปางนาคปรก และได้กราบอาราธนา พระครูธรรมวินยานุยุต (หนู) เจ้าคณะเมืองอุดรธานี จากวัดมัชฌิมาวาสมาเป็นเจ้าอาวาสวัด

ปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัด

1. พระพุทธรูปทองสำริด เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย(หลวงพ่อพระพุทธรัศมี) หน้าตักกว้าง 1.55 เมตร สูง 2.30 เมตร อายุประมาณ 600 ปี สมัยสุโขทัย เป็นพระประธานในพระอุโบสถ และพระประธานองค์นี้ยังมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในพระเศียรด้วย

2. พระพุทธรูปศิลาแลง เป็นพระพุทธรูปปางประทานพร สูง 95 เซนติเมตร กว้าง 24 เซนติเมตร สมัยลพบุรี อายุประมาณ 1,300 ปีประดิษฐานอยู่หลังพระอุโบสถพระพุทธรูปองค์นี้ชาวเมืองอุดรให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก มักจะมีคนมากราบไหว้ขอพรอยู่เสมอ จนมีอีกชื่อหนึ่งว่า “พระขอ” ซึ่งหมายถึงหากเราขออะไรก็จะได้อย่างนั้นนั่นเอง

3. ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นต้นโพธิ์ที่รัฐบาลประเทศศรีลังกา มอบให้รัฐบาลไทย ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้นำมาปลูกไว้เมื่อปี พ.ศ. 2494

4. รอยพระพุทธบาทจำลอง ทำด้วยศิลาแลง อายุประมาณ 100 ปีเศษ

5. ตู้พระไตรปิฎกลายทองลดน้ำ สร้างในพระนามเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2472

6. พระบรมธาตูธรรมเจดีย์

2. ไหว้หลวงพ่อนาค ที่วัดมัชฌิมาวาส

หลวงพ่อนาค ที่วัดมัชฌิมาวาส

วัดมัชฌิมาวาส พระอารามหลวง ก่อนจะมาเป็นวัด มัชฌิมาวาส วัดมัชฌิมาวาสเป็นวัดร้างมาก่อน ชื่อว่าวัดโนนหมากแข้งแต่หลักฐานที่พอให้ทราบได้ว่าเป็นวัดร้างนั้น ก็มีอยู่ 2 อย่าง คือเจดีย์ศิลาแลงตั้งอยู่ที่โนน (เนิน) ประชาชนเล่าสืบกันมา ว่าเจดีย์นั้นได้ครอบ หรือ คร่อมตอหมากแข้งขนาดใหญ่ และมีพระพุทธรูปหินขาว ปางนาคปรก (ปัจจุบัน คือ หลวงปู่นาค) อยู่ภายในเจดีย์

ปัจจุบัน พระพุทธรูปหินขาว ปางนาคปรก ก็ได้นำมาประดิษฐานไว้ที่หน้าพระอุโบสถ ให้ชาวอุดรฯและจังหวัดใกล้เคียงได้สักการะบูชา กันมาจนถึงทุกวันนี้ และกลายเป็นพระพุทธรูปที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์คู่วัดมัชฌิมาวาสตลอดมา หลวงพ่อนาค เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก วัสดุหินขาว พอกปูนทับองค์เดิม ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๐๔ เซนติ เมตร สูง ๒๖๐ เซนติเมตร (เฉพาะองค์พระสูง ๑๔๙ เซนติเมตร) ศิลปะรัตนโกสินทร์นับเป็นพระพุทธรูปคู่บ้าน คู่เมืองของจังหวัดอุดรธานี ประดิษฐานที่มุขด้าน หน้าอุโบสถ วัดมัชฌิมาวาส

วัดมัชฌิมาวาส เดิมชื่อ วัดโนนหมากแข้ง โดยได้รับพระราชทานบรมราชานุญาตสถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 ตั้งอยู่ในตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ตั้งอยู่บนเนื้อที่ทั้งหมด 15 ไร่ 1 งาน มีถนนล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านทิศตะวันออก ติดกับถนนหมากแข้ง และถนนดุษฎี ด้านทิศใต้ ติดกับถนนวัฒนา ด้านทิศเหนือ ติดกับถนนโพนพิไสย อยู่ใกล้กับสถานที่ราชการหลายแห่ง คือ ใกล้ศาลจังหวัดอุดรธานี โดยห่างจากศาลจังหวัดอุดรธานทีเพียง 40 เมตรเท่านั้น ใกล้กับสถานีกาชาดที่ ๙ และสาธารณสุขจังหวัด ประมาณ 30 เมตร ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 120 เมตร ด้านหลังติดกับโรงเรียนเทคนิคอุดรธานี โดยห่างกันเพียง 30 เมตร ห่างจากสำนักงานเทศบาลเมืองอุดรธานี ประมาณ 250 เมตร และตั้งอยู่ในย่านกลางของคุ้มต่าง ๆ คือ คุ้มบ้านห้วย คุ้มบ้านโนน คุ้มหมากแข้ง คุ้มทุ่งสว่าง และคุ้มบ้านคอกวัว
พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม สมัยดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงใหญ่ ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองลาวพวน ได้ทรงสร้างวัดโนนหมากแข้ง (เคยเป็นวัดร้าง) แล้วมีภิกษุจำพรรษาอีกครั้ง เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วัดมัชฌิมาวาส เมื่อราว พ.ศ. 2436 พร้อมกับการสร้าง เมืองอุดรธานีขึ้น วัดมัชฌิมาวาสจึงได้ขึ้นชื่อว่าเป็นวัดที่เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองอุดรฯจน ตราบเท่าทุกวันนี้

3.วัดป่าภูก้อน วัดงามกลางธรรมชาติ

วัดป่าภูก้อน วัดงามกลางธรรมชาติ อุดรธานี

วัดป่าภูก้อน เป็นพุทธอุทยานมหารุกขปาริชาติภูก้อน ภายในวัดมีพระบรมสารีริกธาตุ บรรจุในพระเกศพระร่วงโรจน์ศรีบูรพา ซึ่งเป็นประธานประดิษฐานหน้าองค์พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์ ซึ่งเป็นวัดที่มีความสวยงามมากของจังหวัดอุดรธานี

พระวิหารที่สวยงามของวัดป่าภูก้อน ได้รับออกแบบวิศวกรรมโครงสร้าง องค์พระพุทธรูปหินอ่อน พระวิหาร ศาลาราย และอาคารรอบลานเขา โดยพระวิหารมีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์สมัยรัตนโกสินทร์ มีประตูทางเข้าออกวิหาร 3 ด้าน ภายในถูกตกแต่งอย่างวิจิตรตระการตา แฝงไปด้วยเรื่องราวคำสอนของพระพุทธเจ้า รอบผนังภายในวิหารตกแต่งอย่างสวยงามด้วย ภาพพุทธประวัติและภาพทศชาติ ตกแต่งเป็นภาพปั้นนูนต่ำหล่อด้วยทองแดงจำนวน 22 ช่อง ซึ่งเป็นภาพของพระพุทธเจ้าในองค์ชาติต่างๆ 10 ชาติ เป็นการสื่อความหมายถึงการสั่งสมบารมีด้วยความพรากเพียร และความเสียสละของพระองค์ในทุกๆชาติ โดยด้านบนของทุกภาพ แกะสลักบทสวดอิติปิโสช่องละท่อนด้วยสีเขียวเข้มบนหินอ่อนขาวถือเป็นผนังพระวิหารที่มีเสน่ห์และเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
ภายในวัดมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุ ในพระเกศพระร่วงโรจน์ศรีบูรพา ซึ่งเป็นประธานประดิษฐานหน้าองค์พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์ มีพระพุทธไสยาสน์โลกนาถศาสดามหามุนี พระพุทธไสยาสน์หินอ่อนสีขาว ความยาว 20 เมตร สร้างด้วยหินอ่อนจากประเทศอิตาลี ที่นำมาเรียงซ้อนกันถึง 42 ก้อน ซึ่งเป็นหินขาวอ่อนที่มีความสวยงามและทนทานมากที่สุด ใช้ระยะเวลาในการสร้างถึง 6 ปี สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 84 พรรษา ในปี 2554 คณะพุทธบริษัทวัดป่าภูก้อนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน จึงมีการจัดสร้างพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ขึ้น ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ทางพุทธศิลป์แห่งรัชกาลที่ 9
นอกจากพระวิหารและพระพุทธไสยาสน์โลกนาถศาสดามหามุนีที่เป็นจุดเด่นของวัดป่าภูก้อนแล้ว ยังมี พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์ ที่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันถัดมาทางด้านล่างก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และรูปปั้นหินอ่อนของเหล่าเกจิอาจารย์ชื่อดังของประเทศไทย ซึ่งมีศิษยานุศิษย์อยู่มากมาย โดยนักท่องเที่ยวจะต้องเดินทางขึ้นบันไดยาวเพื่อเข้ามายังเจดีย์เพื่อเข้าไปสักการะบูชา แม้จะสร้างขึ้นได้ไม่นานแต่ที่นี่ถูกยกให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวอีสานอีกหนึ่งแห่ง

4. สักการะ พระบรมสารีริกธาตุ ที่วัดป่าศรีคุณาราม

พระบรมสารีริกธาตุ ที่วัดป่าศรีคุณาราม อุดรธานี

วัดป่าศรีคุณาราม วัดป่าศรีคุณาราม เดิมชื่อ วัดป่าศรีคุณรัตนาราม ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านจีต สถานที่่ตั้งวัดนี้ ตั้งแต่โบราณประชาชนทั้งหลาย เรียกว่าบริเวณนี้ว่า “เหล่าปลาฝา” (ตะพาบน้ำ) เพราะมีหินรูปปลาฝาครอบสี่เหลี่ยม เจาะเป็นโพรงสำหรับเก็บสิ่งของอันมีค่า ครั้งสมัยโบราณ มีผู้คนเล่าขานเรื่องหินรูปปลาฝานั้น แต่ได้สูญหายไปแล้ว คงเหลือแต่ฐานสี่เหลี่ยมเจาะเป็นโพรงไว้เท่านั้น ซึ่งเวลานี้ยังอยู่ที่วัดป่าศรีคุณารามนี้เอง

ประวัติวัดป่าศรีคุณาราม หลายสิบปีก่อนย่านนั้นเป็นป่าดงดิบ เป็นที่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ใครไปทำร้ายหรือถางป่าจะต้องพบกับความวิบัติหรือมีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา เป็นที่หวาดกลัวของผู้คนใกล้เคียงมาก ภายหลังมีหมอผีอาคมขลังทำพิธีบวงสรวงและนำสิ่งของมีค่าในโพรงไป จากนั้นมาความเฮี้ยนก็หายสิ้น ผืนป่าถูกบุกรุกแผ้วถางทำกินและตั้งชุมชนขึ้นมาปี พ.ศ. ๒๔๙๔ คณะสงฆ์แบ่งแยกการปกครองออกเป็น ธรรมยุติกนิกาย และมหานิกาย พระอาจารย์มหาวันดี สุวัณโณ คราวเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี (วัดนอก) ต.บ้านจีต อ.กู่แก้ว จ.อุดรธานี ได้หารือญาติโยมหาสถานที่แห่งใหม่สร้างวัดขึ้นที่เหล่าปลาฝา เรียกว่า วัดป่าศรีคุณรัตนาราม และเปลี่ยนชื่อเป็น วัดป่าศรีคุณาราม เป็นศูนย์รวมใจญาติโยมและอบรมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมายาวนานหลายปี

ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ชาวบ้านได้นิมนต์ พระอาจารย์บุญเกิด ยุตฺตธมฺโม มาช่วยพัฒนาวัดป่าศรีคุณารามจนรุ่งเรืองและ พ.ศ. ๒๕๑๘ พระอาจารย์บุญเกิด ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรที่ พระครูวิสุทธิธรรมสุนทร ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าศรีคุณารามและเป็นเจ้าคณะตำบลบ้านจีต วัดป่าศรีคุณาราม ได้มีโครงการก่อสร้างพระมหาเจดีย์มงคล พระบรมสารีริกธาตุ ส่วนพระจักษุธาตุ เพื่ออัญเชิญพระจักษุธาตุ พระอรหันตธาตุของพระสาวกไปประดิษฐานให้สาธุชนกราบไหว้บูชาและสืบทอดบวรพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองสืบไป โดยโครงการนี้ดำเนินการมาตั้งแต่งานบุญกฐินประจำปี ๒๕๕๔ แต่ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ จึงขอเชิญผู้ศรัทธาทำบุญใหญ่ในครั้งนี้พร้อมเพรียงกันและรับมอบวัตถุมงคลเป็นที่ระลึกด้วย

สำหรับ พระบรมสารีริกธาตุส่วนจักษุธาตุ และพระธาตุพระอรหันตสาวก ที่จะก่อสร้างพระมหาเจดีย์มงคลเพื่อประดิษฐานนั้น มีการเล่าขานว่า เดิมที พระอาจารย์ประจักษ์ ภูริปัญโญ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุสัณฐานเมล็ดข้าวสารหักมาบูชาอย่างเดียว
กระทั่งวันศุกร์ที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๒ ปรากฏพระบรมสารีริกธาตุลักษณะประดุจเพชรเม็ดงาม เสด็จมาอยู่ในกลางผอบสุดอัศจรรย์ และหลังจากนั้นพระธาตุพระอรหันตสาวกก็เสด็จมาเพิ่มมากขึ้น จนไม่มีสถานที่เก็บรักษาได้เพียงพอ จึงเป็นที่มาของโครงการสร้างพระมหาเจดีย์มงคลแห่งนี้ในที่สุด

เรื่องนี้ได้รับการกล่าวขานกันไปต่าง ๆ นานา มีทั้งคนเชื่อและไม่เชื่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ยาก เนื่องจากเป็นความเชื่อและศรัทธา โปรดใช้วิจารณญาณอย่างไรก็ตามการสร้างสถูปหรือมหาเจดีย์ไว้กราบไหว้บูชานั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยตรัสถึงบุคคลที่ควรค่าแก่การสักการบูชามี ๔ จำพวก คือ ๑. พระพุทธเจ้า
๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า
๓. พระอรหันต์ และ
๔. พระเจ้าจักรพรรดิ

พระบรมสารีริกธาตุ จัดเป็นปูชนียวัตถุที่ทรงคุณค่าอย่างหาที่สุดมิได้ ทั้งด้านประวัติศาสตร์และศาสนา เป็นสิ่งสูงค่าควรแก่การเคารพบูชาอย่างสูงสุด ผู้ใดมีบุญวาสนาได้ครอบครองหรือได้สักการบูชาแล้ว ย่อมเป็นสิริมงคลยิ่งแก่ชีวิต เพราะเป็นสิ่งประเสริฐสุดในไตรภพ (๓ โลก) หมายถึง สวรรค์ มนุษย์ นรก

5. วัดป่าบ้านตาด ตามรอยธรรมะ หลวงตาบัว

“วัดป่าบ้านตาด” หรือชื่อทางการว่า “วัดเกษรศีลคุณ” ตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านบ้านตาด ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ห่างจากตัวเมืองอุดรธานีไปทางทิศใต้ ไปประมาณ 16 กิโลเมตร ซึ่งเคยเป็นที่พำนักของพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน พระอาจารย์วิปัสสนาสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นที่เคารพศรัทธาเลื่อมใสชองพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป และวัดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการไปปฏิบัติธรรม

ภายในวัดมีศาลาการเปรียญซึ่งเป็นศาลาไม้หลังใหญ่ เดิมทีเป็นศาลาชั้นเดียวยกพื้นเตี้ย แต่ภายหลังถูกยกให้สูงขึ้น 2 ชั้น เพื่อจะใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ด้านบนศาลานั้น ให้เป็นที่ประดิษฐาน ของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่เป็นพระประธานของวัด ใช้เป็นที่แสดงธรรมอบรมแก่พระภิกษุสามเณรในวัด ตลอดจนเป็นที่ประชุมทำสังฆกรรมร่วมกัน เช่น สวดพระปาฏิโมกข์ อธิษฐานเข้าพรรษา สวดปวารณา และกรานกฐินเป็นต้น ตู้ด้านขวาขององค์พระประธาน นั้น เป็นที่ประดิษฐานอัฐิธาตุของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของหลวงตามหาบัว รวมทั้งอัฐิธาตุของครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ ส่วนด้านล่างศาลานั้นใช้เป็นที่สำหรับฉันภัตตาหารเช้า สถานที่ที่หลวงตามหาบัวใช้ในการแสดงธรรมเทศนาและปฏิสันถารกับศรัทธาฆราวาสญาติโยม ที่มาจากทุกสารทิศอย่างไม่ขาดสายไม่เว้นแต่ละวัน

กุฏิของพระภิกษุสามเณรแต่ละรูป เป็นกุฏิเรียบง่าย พอแก่การบังแดด ลม ฝน จะสูงจากพื้นดิน ประมาณ 1 เมตร เพื่อกันการรบกวนจากสัตว์เลื้อยคลาน ความชื้นจากพื้นดิน ฯลฯ มีขนาดเพียงพอ สำหรับอยู่เพียงองค์เดียว ฝาผนังส่วนใหญ่ใช้จีวรเก่าขึงแทน เพื่อกันลม กันฝน ใช้มุ้งกลดกันยุง ภายในกุฏิจะมีเพียงกลด เสื่อปูนอน ผ้าห่ม เครื่องอัฏฐบริขาร ตะเกียงหรือเทียนไข และของใช้ ที่จำเป็นอื่นๆ ด้านหัวนอนจะมีพระพุทธรูปหรือรูปครูบาอาจารย์ติดไว้ เพื่อกราบไหว้บูชาเป็น กำลังใจในการบำเพ็ญภาวนา ทุกกุฏิจะมีทางเดินจงกรมอย่างน้อย 1 เส้น ยาวประมาณ 25 ก้าว อยู่ใต้ร่มไม้ดูร่มเย็น ในยามค่ำคืนการเดินจงกรม จะใช้โคมเทียนจุดสว่างพอให้เห็นทาง กุฏิแต่ละหลัง จะมองไม่เห็นกันประหนึ่งว่า อยู่ท่ามกลางป่าเพียง องค์เดียว เพื่อให้สัปปายะสะดวกในการบำเพ็ญ สมณธรรม

กุฏิที่สร้างถาวรมีอยู่รวมประมาณ 10 กว่าหลัง เป็นกุฏิของหลวงตา ภิกษุสูงอายุ กุฏิของญาติโยม ตามปกติญาติโยมทั้งหญิงและชายมักมาขออยู่พัก ปฏิบัติธรรมภาวนา เป็นช่วงเวลาสั้นๆ โดยเฉลี่ยอยู่ในระหว่าง ประมาณ 50-100 คน จัดแยก เขตกันระหว่างพระภิกษุสามเณร ญาติโยมชายและหญิงอย่างเป็นระเบียบ

6. ไหว้พระใหญ่เขาช่องชาด หนึ่งวัดธรรมชาติกลางจังหวัดอุดรธานี

วัดเขาช่องชาด ตั้งบ้านหนองบัวเงิน หมู่ที่ 8 ตำบลอูบมุง อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี บริเวณสันเขาภูพานคำ เขตอุทยานแห่งชาติภูเก้าภูพานคำ เขตอำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี อยู่ทางทิศใต้ ของอำเภอหนองวัวซอ ห่างจากเทศบาลตำบลอูบมุง 6 กม. สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ ป่าไม้เบญจพรรณ อาทิ ป่าไผ่ ประดู่ มะค่าโมง แดง ยาง ต้นชาดและกล้วยไม้ มีสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น ไก่ป่า กระรอก กระแต นก ค้างคาว งู สุนัขป่า ฯลฯ

ทิวทัศน์เขาช่องชาติ มีทัศนียภาพงดงาม เป็นกันชนเขตแดนระหว่างจังหวัดอุดรธานี กับ จังหวัดหนองบัวลำภู สามารถมองเห็นภาพธรรมชาติภายในพื้นที่อำเภอหนองวัวซอได้เกือบทั้งหมด ทางฝั่งตะวันออก ส่วนอีกฟากทางด้านตะวันตกสามารถมองเห็นอำเภอโนนสัง อำเภอเมืองจังหวัดหนองบัวลำภูได้อย่างชัดเจนและสามารถมองเห็นภูเก้าได้อย่างชัดและสวยงามอีกด้วย ทิศใต้มองเห็นเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น
ด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก สมารถมองเห็นทัศนียภาพอันงดงาม ของอำเภอหนองวัวซอได้อย่างชัดเจนและมีความสวยงาม สภาพเทือกเขาเขียว ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มองเห็นเจดีย์วัดดอยบันไดสวรรค์ สภาพภูมิประเทศของอำเภอหนองวัวซอ อาทิ ตำบลอูบมุง ตำบลกุดหมากไฟ ตำบลโนนหวาย และตำบลหนองอ้อ

7. ไหว้หลวงพ่อนาค วัดโพธิ์ชัยศรี อุดรธานี

วัดเก่าแก่โบราณ และเป็นที่ประดิษฐพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของชาวอุดรธานีนามว่า “หลวงพ่อนาค วัดโพธิ์ชัยศรี” ตั้งอยู่ที่ อ. บ้านผือ เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกทำด้วยทองสำริด ที่ฐานพระพุทธรูป มีจารึกเป็นอักษรธรรมอีสานโบราณ เป็นที่เคารพบูชาของอีสานมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงวันนี้

ท่านเจ้าคุณพระภาวนาวิมล(พระมหาอัมพร อโสโก) เป็นเจ้าอาวาส และดำรงตำแหน่งตำเจ้าคณะอำเภอบ้านผือ (มหานิกาย) วิทยฐานะ นักธรรมเอก เปรียญธรรม ๖ ประโยคและอภิธรรมบัณฑิต เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๒๓

ภายในบริเวณวัดมีพระพุทธรูปปางนาคปรก มีนาค ๗ หัว ชูเหนือเศียรองค์พระ ซึ่งเป็นพระที่เก่าแก่ ผู้สร้างได้จารึกอักษรไว้ตรงแท่นพระเป็นอักษรธรรม(ไทยน้อย)โบราณ มีผู้รู้อักษรธรรมโบราณได้อ่านไว้แล้วบอกกันต่อๆ มา (ซึ่งท่านทั้งสองได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว) มีความว่า สร้างเมื่อปี จ.ศ.๑๗๐ แห่งพุทธกาล ปีจอ เดือน ๓ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ยามกลองแลง หัวครูคำวงษาเป็นผู้สร้าง (ท่านผู้สร้างคงเป็นพระที่มีอภิญญาญาณแน่นอน)

และมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่อีกองค์หนึ่งเรียกกันว่า “หลวงพ่อตื้อ” เป็นพระประธานใหญ่ปางสะดุ้งมาร หน้าตักกว้างประมาณ ๖ ศอก สูงประมาณ ๗ ศอก เนื้อพระพุทธรูปสันนิษฐานว่าสร้างมาจากเกสรดอกไม้และว่านต่างๆ ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่ศาลากลางเปรียญ

8. วัดป่าบ้านค้อ อุดรธานี

วัดป่าบ้านค้อ จ.อุดรธานี วัดป่าบ้านค้อมีเสนาสนะและการสาธารณูปโภค ที่เหมาะต่อการอยู่อาศัยปฏิบัติธรรมสำหรับพระ เณร และฆราวาส มีเสนาสนะป่าเหมาะแก่การปลีกวิเวก ในส่วนของการเผยแผ่ จังหวัดอุดรธานีกำหนดให้วัดป่าบ้านค้อเป็นศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติประจำจังหวัดอุดรธานี

วัดป่าบ้านค้อ ตั้งอยู่บ้านค้อ ตำบลเขือน้ำ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ได้ก่อตั้งขึ้นโดยการนำของ “พระอาจารย์ทูล ขิบปปญโญ” (ปัจจุบันมรณภาพแล้วเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2551 ) เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2528 มีเนื้อที่ 410 ไร่ ปัจจุบันมีเสนาสนะและสาธารณูปโภคเท่าที่จำเป็นต่อการอยู่อาศัยปฏิบัติธรรมสำหรับพระและฆราวาส มีเสนาสนะป่าเหมาะแก่การปลีกวิเวกของผู้ใคร่ปฏิบัติธรรม ในส่วนของการเผยแพร่พระพุทธศาสนาและการบริการชุมชน จังหวัดอุดรธานี กำหนดให้วัดป่าบ้านค้อเป็นศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติประจำจังหวัดอุดรธานี และได้เคยจัดให้มีการบรรพชาอุปสมบทอบรมกลุ่มปฏิบัติธรรมแก่ นักเรียนและประชาชนทั่วไป อีกทั้งยังมีฆราวาสทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เข้าพักรับอุบายธรรมภาคปฏิบัติอยู่อย่างสม่ำเสมอ

พระมหาธาตุเจดีย์เฉลิมพระบารมีพระนวมินทร์ ต้นพระศรีมหาโพธิที่อัญเชิญมาจากศรีลังกาประดิษฐานเป็นสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าและความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา อยู่เคียงคู่กับพระมหาธาตุเจดีย์ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ดอกบัวทองคำยอดพระมหาธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๓๓ องค์ หล่อ
ขึ้นจากทองเหลืองผสมทองแดงหุ้มด้วยแผ่นทองคำบริสุทธิ น้ำหนัก ๒๓ กิโลกรัม องค์ระฆังศิลปะลังกา ประดิษฐานพระเจดีย์ทองคำบรรจุพระบรมสารีริกธาตุตลอดทั้ง ปูชนียวัตถุและเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ บูชาพระบรมธาตุอื่นๆ ชั้นล่างเป็น วิหารจตุรมุขทรงไทยประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
มีประตูกระจกแกะสลัก ๒๒ ช่อง ผนังโดมมีภาพจิตรกรรม “พระมหาชนก ” พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อทูล สร้างขึ้นเพื่อน้อมถวายเป็นเครื่องสักการะบูชาพระคุณของหลวงพ่อทูล มีการจัดแสดงอัตโนประวัติ และผลงานด้านต่างๆ ภายในแนวความคิดในการออกแบบให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต โดยใช้หลัก 3 หลัก คือ ธรรมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาของหลวงพ่อทูล พระอริยสงฆ์ผู้ทรงคุณค่า ให้ลูกหลานได้เรียนรู้และยึดถือเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิตสืบไป
ต้นพระศรีมหาโพธิ์

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ รัฐบาลแห่งประเทศศรีลังกาได้แบ่งกิ่งพันธุ์มาจากเมืองอนุราธปุระ อันเป็นต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระภิกษุณีที่เป็นพระอรหันต์ได้ตอนกิ่งมาจากต้นโพธิ์ตรัสรู้ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ เมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย เมื่อสองพันปีเศษที่ผ่านมา ประดิษฐานเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวพุทธทั่วทุกส่วนของโลกได้มีโอกาสถวายสักการะน้อมรำลึกถึงพระปัญญาคุณ พระกรุณาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระแกะสลักไม้ตะเคียนทอง พระพุทธรูปแกะสลักปางประสูติ ปางตรัสรู้ ปางปฐมเทศนา และปางปรินิพพาน ดำริการสร้างโดย หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ ในปี พ.ศ.2547 โดยใช้ไม้ตะเคียนทอง ตลอดระยะเวลาการก่อสร้าง หลวงพ่อทูลเป็นผู้ออกแบบ ควบคุมการแกะสลัก และการลงสีอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้งานที่ละเอียดประณีต และวิจิตรงดงาม พระพุทธทั้ง 4 ปาง ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ด้านทิศใต้ของพระมหาธาตุเจดีย์

9. ร่วมชมพุทธศิลป์ที่วัดสระมณี อุดรธานี

วัดสระมณี สร้างเมื่อพุทธศักราช 2338 เนื่องจากแต่เดิมวัดสระมณี มีสระหนึ่งสระผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่ามีลูกแก้วชนิดหนึ่งลอยขึ้นมาจากสระเปล่งแสงประกายงดงามมากเมื่อชาวบ้านมาตั้งวัดขึ้น ณ ที่บ้านผักตบจึงใช้ชื่อนี้ว่า ‘’วัดสระมณีโชติ’’ ต่อมาหลายปีคำว่า โชติ หายไปเหลือแต่คำว่า สระมณี จึงได้ใช้เป็นชื่อวัดในปัจจุบัน

องค์พ่อพระพุทธพิบูลธนาภิรมย์ เป็นองค์พระประธานที่มีความศักดิ์สิทธิ์มากในเรื่องของการกราบไหว้ และขอพร มีขนาดหน้าตักกว้าง 60 นิ้ว ประดิษฐานภายในพระอุโบสถวัดสระมณี เป็นพระพุทธรูปที่ท่าน อ.ปัณณวิชญ์ พิบูลธนาภิรมย์ และคณะสร้างถวายแก่วัดสระมณี และเป็นผู้อัญเชิญมาประดิษฐานในวันที่ 7 ตุลาคม 2557 เป็นพระประธานที่ได้รับประทานนามจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกฯ ทำการเททองหล่อองค์ ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ที่วัดโอภาสี แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร โดยมีเจ้าประคุณพระเทพสารเวที ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรฯ และอดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขาฯ พระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานฝ่ายสงฆ์และอาจารย์ปัณณวิชญ์ พิบูลธนาภิรมย์ (อ.เชียง) เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

พระพุทธศิริมงคลธรรมภิรมย์ ประดิษฐานหน้าบันทาด้านหน้าของพระอุโบสถวัดสระมณี เป็นพระพุทธรูปที่ท่านอาจารย์ปัณณวิชญ์พิบูลธนาภิรมย์ (อ.เชียง) และคณะสร้างถวายแก่วัดสระมณี และผู้อัญเชิญมาประดิษฐานในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2558 (เป็นพระประธานที่ได้รับประทานนามจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกฯ ทำการเททอง หล่อองค์ที่วัดดวง โดยมีเจ้าประคุณพระเทพสารเวที ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรฯ และอดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขาฯ พระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานฝ่ายสงฆ์และ อาจารย์ปัณณวิชญ์ พิบูลธนาภิรมย์ (อ.เชียง) เป็นประธานฝ่ายฆราวาส)

องค์รูปเหมือนสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกฯ ที่ท่าน อ.ปัณณวิชญ์ พิบูลธนาภิรมย์ (อ.เชียง) และคณะศรัทธาผู้ติดตาม พร้อมทั้งคณะศรัทธาชาวบ้านผักตบ ร่วมกันสร้างถวายแก่วัดป่ามณี เพื่อนำมาประดิษฐานหน้าบันซุ้มประตูทางด้านหน้าของพระอุโบสถ ทำการหล่อองค์ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 ที่วัดบวรวัดบวรนิเวศวิหารบางลำพู กรุงเทพฯ ภายในงานได้รับความเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัตนฯ เจ้าอาวาสวัดบวรวัดบวรนิเวศวิหารฯ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์และท่านโดยอาจารย์เชียง ปัณณวิชญ์ พิบูลธนาภิรมย์ เป็นประธานฝ่ายฆราวาสฯ

รูปเหมือนหลวงพ่อพระครูอดุลกัลยาณวัตร (สวัสดิ์ เตชธมโม ผู้เป็นบูรพาจารย์ ประจำวัดสระมณี เจ้าอาวาสวัดสระมณีรูปที่ 13) ท่านพระครูสุตวีรคุณาธาร เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน รองเจ้าคณะอำเภอหนองหานและชาวบ้านผักตบ คณะศิษยานุศิษย์ ของหลวงพ่อท่าน ร่วมกันเป็นเจ้าภาพสร้างไว้เป็นที่สักการบูชาถึงคุณงามความดีของท่าน ปัจจุบันอยู่ที่ห้องพระศาลาการเปรียญวัดสระมณี

พระพุทธพิบูลธนาภิรมย์ (องค์จำลองทองเหลือ) เป็นพระประธานที่ท่าน อาจารย์ปัณณวิชญ์ พิบูลธนาภิรมย์ (อ.เชียง) และท่านณณชัย ทีฆธนานนท์ (อดีตนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี และอดีตนายก องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี) และคณะศรัทธาผู้ติดตามท่านอาจารย์เชียง สร้างถวายให้แก่วัดสระมณี เพื่อจุดประสงค์ใช้ในงานการแห่บูชารอบหมู่บ้าน เช่น ในงานประเพณีสงกรานต์ วันปีใหม่

ศาลปู่โคตร เป็นองค์หลวงปู่ (เล่ากันว่าเป็นปูชีพขาวมีลักษณะรูปร่างสูงใหญ่) เป็นที่สักการบูชาของชาวบ้านผักตบ และหมู่บ้านใกล้เคียงลือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก ปัจจุบันอยู่เคียงศาลาหลังเล็กด้านข้างพระอุโบสถ วัดสระมณี

บ่อน้ำแก้วมณีโชติเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่ลือกันว่า มีพญานาคราช ปกปักรักษาอยู่ผู้คนที่เดินทางมากราบไหว้ ขอพรองค์หลวงพ่อฯ จะไม่ลืมนำน้ำศักดิ์สิทธิ์กับไปที่บ้าน ฝากลูกหลานปะพรมศีรษะ และล้างหน้าเพื่อความเป็นสิริมงคล หรือบางคนป่วยเป็นโรคภัยไข้เจ็บก็หายจากอาการป่วยได้ตามคำร่ำลือฯ

10.ตำนานพญานาค พ่อปู่ศรีสุทโธ คำชะโนด

ป่าคำชะโนด หรือ เมืองชะโนด หรือ วังนาคินทร์คำชะโนด ตั้งอยู่ในพื้นที่ 3 ตำบล คือ ตำบลวังทอง, ตำบลบ้านม่วง และตำบลบ้านจันทร์ ใน อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี

เป็นป่าที่มีลักษณะเหมือนเกาะแม่น้ำในอ่างเก็บน้ำกุดขาม ขึ้นอยู่กลางทุ่งนา เต็มไปด้วยต้นชะโนด ซึ่งเป็นพืชจำพวกปาล์ม ความยาวประมาณ 200 เมตร ป่าคำชะโนดเป็นสถานที่ ๆ ปรากฏในตำนานพื้นบ้าน เป็นสถานที่ ๆ เชื่อว่า เป็นที่สิงสถิตของพญานาค ปู่ศรีสุทโธ ย่าศรีประทุมมา และสิ่งลี้ลับต่าง ๆ บ่อยครั้งที่ชาวบ้านในละแวกนั้นจะพบเห็นชาวเมืองชะโนดไปเที่ยวงานบุญพระเวสสันดร รวมถึงหญิงสาวที่มายืมเครื่องมือทอผ้าอยู่เป็นประจำ และเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงที่อำเภอบ้านดุง แต่น้ำก็ไม่ท่วมบริเวณคำชะโนด เมื่อระดับน้ำลดลง คำชะโนดก็ยังคงอยู่เช่นเดิม

แต่ทว่าแท้ที่จริงแล้ว ป่าคำชะโนดก็เคยเกิดน้ำท่วม โดยเคยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2516, พ.ศ. 2538, พ.ศ. 2559 และ พ.ศ. 2560 ทั้งนี้เชื่อว่าเกิดจากการที่มีการก่อสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ มากขึ้นกว่าเดิมในอดีต จึงทำให้พื้นที่ของเกาะซึ่งลอยน้ำอยู่นั้นมีความหนัก จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องจมน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงกลางปี พ.ศ. 2560 ถึงกับต้องปิดสถานที่แห่งนี้เป็นการชั่วคราว